
ที่มาของคำเรียกเกย์ กะเทย ในสังคมไทย
ในสังคมไทยปรากฏคำว่า “กะเทย” ไว้ในพจนานุกรม แปลว่า “สัตว์สองเพศ” หรือผู้มีอวัยวะสองเพศ หรือไม่มีเพศ หรือสำคัญตนผิดไปจากร่างกายที่เป็น เช่นร่างชาย แต่มีจิตใจและการกระทำเป็นหญิง ส่วนความเข้าใจเรื่อง gay นั้นได้หมายถึงกลุ่มรักร่วมเพศชาย นอกจากนั้นยังมีคำต่างประเทศ อย่าง hamerpodrite ที่หมายถึงกะเทย หรือhomosexual หมายถึงการรักร่วมเพศ ซึ่งแตกต่างกับ heterosexual กะเทยได้ถูกใช้แพร่หลายกับกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรม ลักษณะนิสัย หรือการแต่งกายคล้ายหญิง และสำคัญตนเองว่าเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย ทั้งที่ตนเองอยู่ในร่างกายผู้ชาย แต่คำว่า เกย์ได้ถูกใช้แพร่หลายจากชาวต่างชาติที่เข้ามาเมืองไทย ดังกรณีนักข่าวผู้มีข่าวพาดหัวใหญ่คือนายบริแกน ได้มีการอ้างอิงถึงเกย์ ที่มีลักษณะปกติเหมือนผู้ชายแต่มีจิตใจชอบผู้ชายและมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หลังจากนั้นก็มีการพูดถึงคำว่าเกย์ โดยมีการนิยามคำว่า เกย์ควีน จากคุณยศวดี เจ้าของบาร์ย่านพัฒน์พง ที่แต่งตัวเป็นหญิง ใส่กระโปรง เรียกตนเองว่าเป็นกลุ่มหนุ่มรักชาย เรียกสรรพนามว่าผม และลงท้ายด้วยครับ และไม่นิยมกะเทย โดยบอกว่าเป็น พวกที่ต่ำกว่า สังคมไม่ยอมรับ เพราะบางทีเกย์ต้องอยู่ในสังคม และมีคำว่า เกย์คิง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นชาวต่างประเทศที่ชอบเป็นฝ่ายกระทำ หรือแสดงบทบาทสามี โดยมีกะเทยชื่อดังอย่าง รัชนก ณ เชียงใหม่ เป็นกะเทยที่เป็นนักแสดง ถึงขนาดจะจัดงานประกวดนางสาวสยามประเภทสอง โดยมีกะเทย รัชนก กับ เกย์ควีนอย่าง ยศวดี
ผู้เขียนพยายามจะชี้ให้เห็นว่ากะเทย และเกย์ควีนเมื่อสมัย30กว่าปีก่อนมีลักษณะไม่ต่างกัน แต่มีสถานภาพที่ต่างกัน โดยจะให้คำนิยาม เกย์มีรสนิยมที่สูงกว่า แต่มาสมัยหลังจากนั้นไม่นาน เริ่มมีการเปรียบเทียบระหว่าผู้ชายเกย์ไม่ต่างกัน อาจต่างกันแค่พฤติกรรมเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มคนบางคนที่สามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ทั้งชายและหญิง และที่สำคัญบางคนยังมีครอบครัวแล้ว จากการขอคำปรึกษาในนิตยสารแปลก ซึ่งถือว่ามีการตอบปัญหา และการใช้พื้นที่สื่อของสังคมเกย์ บางคนมีการแต่งงานบังหน้า เพราะกลัวการโจทก์จันของสังคม โดยแท้จริงแล้วไม่ได้มีความสุขในชีวิตคู่ ที่ทำไปเพราะหน้าที่ทางสังคมบีบบังคับ และสอดคล้องกับวรรณกรรมของกฤษณา อโศกศิน ที่เขียนถึงความรักเกย์ ที่คนทั่วไปดูไม่รู้เลยว่ามีพฤติกรรมชอบเพศเดียวกัน เพราะดูลักษณะทุกอย่างสมบูรณ์แบบชาย แต่มีจิตใจชอบชายด้วยกัน ซึ่งได้อธิบายถึง หนุ่มไฮโซ ฐานะทางสังคมสูง มีการงานที่ดี เพียบพร้อมไปทุกด้าน หากแต่มีจิตใจรักชายด้วยกัน ภาพลักษณ์ เกย์ในที่นี้น่าจะหมายถึงกลุ่มหนุ่มนักเรียนนอกที่ไปได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ
แต่ในปัจจุบันการ วิวัฒนาการเกย์ยิ่งซับซ้อนขึ้น จากการศึกษา งานเขียนระดับปรมาจารย์ทางประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์นิธิ เผยให้เห็นว่า เกย์มีคำศัพท์ที่หลากหลายและมีการใช้คำเฉพาะกลุ่ม ซึ่งได้สร้างวัฒนธรรมของตนขึ้นมา ให้แตกต่างกับวัฒนธรรมหลัก ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการเรียกเกย์ หลายแบบ และแตกต่างกับกะเทย คำนิยามเกย์ในปัจจุบันจึงประกอบด้วย เกย์คิง ซึ่งมีบทบาทเป็นฝ่ายกระทำ พฤติกรรมอาจกระตุ้งกระติ้ง หรือไม่ก็ได้ ซึ่งแล้วแต่ละบุคคล เกย์ควีน หมายถึงผู้ถูกกระทำ อาจกระตุ้งกระติ้งหรือไม่ก็ได้แล้วแต่บุคคล เกย์โบ้ท คือผู้ที่ปฏิบัติการมีเพศสัมพันธ์ได้ทั้งกระทำและถูกกระทำ คิงรุก คือเกย์ที่มีลักษณะเหมือนผู้ชายทุกประการหรือใกล้เคียงที่สุด ชอบมีเพศสัมพันธ์เป็นผู้กระทำ คิงรับ คล้ายกับคิงรุกแต่เป็นผู้ถูกกระทำ ไบรับ หมายถึงสามารถมีอะไรกับผู้หญิงได้ แต่หากผู้ชายจะชอบเป็นฝ่ายรับมากกว่า ไบรุก แสดงบทบาทเป็นผู้กระทำทั้งหญิงและชาย ไบโบ้ท หมายถึงผู้หญิงและผู้ชายก็ได้และถ้าผู้ชายเป็นได้ทั้งผู้กระทำ และถูกกระทำ สาวเสียบ หมายถึงคนที่กระตุ้งกระติ้งไปทางผู้หญิงมาก แต่เป็นฝ่ายกระทำผู้ชาย กะเทย หมายถึงผู้ชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ทั้งพฤติกรรม นิสัย การกระทำ และอยากเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ (รวมไปถึงการมีบุตรได้จริงๆ) และอื่นๆอีกมากมาย โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มจะเข้าใจคำเหล่านี้กันเอง
ข้อสังเกตหนึ่งที่ผมเห็นคือ ศัพท์เฉพาะทั้งหลายจะบ่งบอกถึงการมีเพศสัมพันธ์หรือการแบ่งประเภท นอกเหนือจากการพรรณนาด้วยความงามทางภาษา เช่น ฉันรักเธอ ก็ใช้คำว่า เล่นกัน ซึ่งอาจารย์นิธิให้ความเห็นว่า มันเป็นการแสดงกริยาที่ไม่มีความลึกซึ้ง ทำให้คนมองภาพย์ลักษณ์เกย์โดยทั่วไปว่า เป็นความสัมพันธ์แบบฉาบฉวย เป็นเพียงแค่การตอบสนองทางเพศที่หลากหลาย หรือหมกมุ่น ไม่จีรังยั่งยืน ทำให้เกย์ที่มีความปรารถนาในรักแท้อาจจะถูกมองได้ว่าเป็นแบบนั้นไปทั้งหมด หรือเหมารวม แต่ผมกับค้นพบว่ายิ่งสังคมที่ซับซ้อนขึ้น หรือเป็นสังคมเมืองขึ้น วาทกรรมเกย์ หรือการนิยามจำแนกหรือประเภทจะมากขึ้นตามลำดับ ความคิดที่ซับซ้อนของมนุษย์ในกลุ่มเกย์กับสร้างวัฒนธรรมของตนเองตามระบบความคิดอย่างลึกล้ำจนคนทั่วไปแทบตามไม่ทัน และที่สำคัญการสื่อสารที่กว้างขวางเข้าถึง กำลังจะขมวดลักษณะเกย์ทั้งในชนบท และสังคมเมืองให้ไม่แตกต่างกันมากนัก เรียกได้ว่าโลกาภิวัฒน์ได้กลืนกลายวัฒนธรรมเกย์ให้มีหน้าตาที่คล้ายๆกันนั่นเอง (ข้อมูลจากการศึกษาของ ชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคมศาสตร์)
Add comment