HOTLINE: +66 (0)2 618 516 8

เปลือยนายแบบ : หนังสือโป๊และกามารมณ์ในชีวิตเกย์ไทย

เรื่องที่เป็นความลับ ถูกปกปิด ซ่อนเร้น น่าสงสัย แต่ชวนให้อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ ก็คือ การดูภาพเปลือย และภาพกิจกรรมร่วมรักที่น่าตื่นเต้นของมนุษย์   

ในสังคมของเกย์ ภาพเปลือยของนายแบบในนิตยสารคือตัวอย่างที่น่าสนใจในการสืบหาว่าอะไรคือเสน่ห์ และปริศนาของภาพเปลือย  มีอะไรบ้างที่ทำให้เรือนร่าง “เปลือย” ของมนุษย์มีความหมายในเชิงกามารมณ์ และความใคร่  

เปลือยนายแบบ : หนังสือโป๊และกามารมณ์ในชีวิตเกย์ไทยคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบจากระเบียบศีลธรรม เนื่องจากภาพเปลือยของมนุษย์ที่แสดงอวัยวะเพศอย่างชัดแจ้งเป็นเรื่องที่สังคมประณาม แต่ก็เป็นเรื่องที่คนอยากรู้อยากเห็นมากที่สุดในเวลาเดียวกัน   ในบทความเรื่องนี้ขอยกตัวอย่างภาพเปลือยของนายแบบในนิตยสารเกย์ขึ้นมาตรวจสอบ และเปิดเผยความคิดบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในความรู้และความจริงเกี่ยวกับเซ็กซ์ ซึ่งถูกรับรู้ในหมู่เกย์
เซ็กซ์ กามารมณ์ และความใคร่ในชีวิตของเกย์ เป็นเรื่องที่สังคมสร้างตราประทับไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์ที่มั่วสุม ส่ำส่อน เปลี่ยนคู่นอนไม่เลือกหน้า และเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมอย่างรุนแรง   เซ็กซ์ของเกย์จึงเป็นภาพสีดำที่ยากต่อการลบล้าง  จึงเป็นทั้งเรื่องที่น่าหนักใจและน่าหลงใหลในเวลาเดียวกัน เมื่อเกย์คนหนึ่งต้องอธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจว่าตนเองเป็นใคร และคิดอย่างไรต่อเรื่องเซ็กซ์ที่ถูกมองว่าสกปรก     ในที่นี่ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า มีความซับซ้อนและความเกี่ยวพันกันระหว่าง ตัวตนทางเพศของเกย์ กับ ภาพเปลือยในหนังสือโป๊ ความเกี่ยวพันนี้อาจโยงไปถึงเรื่องระเบียบทางศีลธรรมที่สังคมกำหนดไว้ เรื่องทางสังคมของเพศสภาพ และเรื่องของประสบการณ์ทางเพศส่วนบุคคล  สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเปลือกนอกที่ห่อหุ้มกามารมณ์ของเกย์ให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ ซึ่งมีเกย์เท่านั้นที่รู้ว่าอะไรคือเรื่องที่เกิดขึ้น
บทความเรื่องนี้จึงเป็นความพยายามที่จะสะกดรอยตามชีวิตทางเพศของเกย์ที่มีหนังสือโป๊เป็นพยานหลักฐาน  หนังสือโป๊ของเกย์เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นมาไม่นาน แต่มีพัฒนาการที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องปลดปล่อยจินตนาการทางเพศของเกย์แล้ว ก็ยังทำให้ “ตัวตน” ทางเพศของเกย์มีพื้นที่ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม หนังสือโป๊ของเกย์ที่ดูเหมือนเป็นแหล่งแสวงหาความบันเทิงที่ไม่จบสิ้นนั้น ยังมีเรื่องที่ท้าทาย “ความรู้” ของมนุษย์ในการนิยามว่าเรือนร่างและการสมสู่กันควรจะดำเนินไปอย่างไร และจะถูกขัดขวางด้วยวิธีการใด   กรณีหนังสือโป๊ของเกย์จึงอาจทำให้เรากลับมาตั้งคำถาม และวิจารณ์สิ่งที่เราเคยทำกันมา เพราะเมื่อเซ็กซ์มิใช่เรื่องของอารมณ์เพียงอย่างเดียว เซ็กซ์ก็อาจเป็นการขัดเกลาทางปัญญาที่น่าทดลอง

กำเนิดของภาพเปลือยและหนังสือโป๊


the cover of a thai gay magazineหนังสือโป๊ในที่นี่ แปลความหมายมาจากภาษาอังกฤษว่า Pornography  ซึ่งหมายถึงเรื่องเขียน หรือภาพถ่ายที่ลามากอนาจาร หยาบคาย และน่าขยะแขยง  คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า pornograph หมายถึงงานเขียนที่พูดถึงโสเภณี คำว่า porne หมายถึงโสเภณี ส่วนคำว่า graphos หมายถึงการเขียน   เรื่องแต่งและภาพเขียนเกี่ยวกับการร่วมรัก กิจกรรมทางเพศและภาพเปลือยนั้นเกิดขึ้นในวัฒนธรรมของมนุษย์มาช้านาน  หากย้อนกลับไปจะพบว่าภาพวาดกิจกรรมทางเพศของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 600-400 ปีก่อนคริสต์กาล โดยเป็นภาพเขียนลายบนภาชนะ ถ้วยชามต่างๆ เช่นในสมัยกรีกโบราณ ในอารยธรรมอินเดียและจีนก็มีการวาดภาพและเรื่องแต่งดังกล่าว เช่นในกามสูตรของอินเดีย  แต่การใช้คำว่า pornography เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วง ปี ค.ศ1530 ในประเทศอิตาลี  ปิเอโตร อรีโตโน่ คือนักเขียนคนแรกที่แต่งบทกลอน วาดภาพและแกะสลักเกี่ยวกับกิจกรรมเพศอย่างเปิดเผย  และผลงานของเขาเป็นที่กล่าวขานในชื่อ Aretino’s Postures ซึ่งเปรียบเสมือนการวางรากฐานงานเขียนที่เล่าเรื่องเพศและภาพโป๊อย่างโจ่งครึมให้กับตะวันตกในเวลาต่อมา แต่ศาสนาจักรลุกขึ้นมาประณามและนำผลงานของเขามาเผาทำลาย
ในช่วงศตวรรษที่ 16 งานศิลปะที่แสดงภาพกิจกรรมทางเพศและรูปเปลือยของมนุษย์ ยิ่งเพิ่มความตื่นตะลึงมากกว่าเดิม เพราะภาพเหล่านั้นยั่วยวนความใคร่ และความต้องการทางเพศของมนุษย์ และเรื่องแต่งที่ชื่อ L’Ecole Des Filles ในปี ค.ศ.1655 ก็ทำให้ชาวฝรั่งเศสมีอารมณ์ความใคร่และหาทางระบายออก   สิ่งที่ทำให้หนังสือลามกและภาพโป๊เป็นเรื่องแพร่หลายก็คือความก้าวหน้าทางการพิมพ์และการถ่ายภาพในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา    การทำสื่อทางกามารมณ์เริ่มสะดวกรวดเร็วกว่าเดิม และเซ็กซ์ยังถูกทำให้เป็นเรื่องการเสียดสีประชดประชันทางการเมือง เช่น ในประเทศฝรั่งเศส พวกฝ่ายซ้ายจะใช้ประเด็นเรื่องเพศเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และผู้ปกครอง  อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อเหล่านี้กลายเป็นธุรกิจมากขึ้น ทำกำไรได้มากขึ้น  หนังสือโป๊ก็กลายเป็นแหล่งรวมภาพเปลือยที่โจ่งแจ้ง และภาพของการสมสู่ที่แพร่หลายอย่างน่าตกใจ
ในช่วงศตวรรษที่ 19 การถ่ายภาพและการผลิตภาพยนตร์ทำให้ภาพกิจกรรมทางเพศและภาพเปลือยเป็นสิ่งน่าตื่นเต้น และมีความละเอียดซับซ้อนเพิ่มขึ้น  ในประเทศฝรั่งเศสมีหนังสือประเภท pornographe ซึ่งพูดถึงชีวิตของโสเภณี แต่ pornography ในความหมายที่เป็นหนังสือโป๊ ลามก หรือปลุกใจเสือป่านั้นเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง และถูกให้คุณค่าในทางลบ และเป็นสิ่งผิดศีลธรรม   ความหมายในเชิงลบของหนังสือโป๊ได้รับการกล่าวขานและมีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง ซูซาน ซอนเทจ กล่าวว่า หนังสือโป๊มิใช่การเปิดเผยเรื่องเซ็กซ์ หากแต่เป็นเรื่องของความตาย หนังสือ นิตยสาร และสิ่งพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องและรูปภาพเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ การร่วมเพศ และภาพเปลือยอวัยวะเพศ และร่างกายของมนุษย์ ก่อให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งบางครั้งเป็นภาพการร่วมรักที่พิศดาร แปลกประหลาด และน่าตื่นเต้น  การเปิดเผยสิ่งเหล่านี้อย่างโจ่งแจ้งกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในแวดวงสังคมและศีลธรรม รวมถึงเป็นปัญหาในเรื่องของการนิยามว่าอะไรคือ “โป๊” “ลามก” อนาจาร” และ “ศิลปะ”  เช่น มีการนิยามว่าภาพโป๊คือภาพที่เปิดเผยให้เห็นอวัยวะเพศอย่างชัดเจนและก่อให้เกิดการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ  การนิยามเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ความเชื่อ และความคิดของบุคคล อย่างไรก็ตาม การให้คุณค่าในเชิงลบต่อภาพโป๊ก็ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา และกฎหมาย  ซึ่งในบางประเทศอาจมีการลงโทษผู้เผยแพร่สิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร

กำเนิดของภาพเปลือยและหนังสือโป๊

การนิยามว่าหนังสือโป๊คือการแสดงภาพของอวัยวะเพศอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้เกิดภาพลักษณ์ทางวัตถุต่อเรื่องเพศตามมา  กล่าวคือเมื่อหนังสือโป๊กลายเป็นตัวแทนของการเปิดเผยอวัยวะ  เรื่องเพศของมนุษย์ก็จะกลายเป็น “วัตถุ” บางอย่าง      McNair กล่าวว่าผู้ดูผู้อ่านหนังสือโป๊จะคิดว่ามันคือสิ่งที่จับต้องได้ และตอบสนองความต้องการทางเพศได้  ลินดา วิลเลียมส์กล่าวว่าหนังสือโป๊ยุคใหม่จะมีภาพถ่ายเปลือยและภาพกิจกรรมทางเพศ ซึ่งทำให้ร่างกายของผู้หญิงเป็นวัตถุที่ตอบสนองกามารมณ์ของผู้ชาย  หนังสือโป๊จึงเป็นตัวแทนค่านิยมของผู้ชายที่มีต่อเรื่องเพศ ซึ่งเฟมินิสต์โจมตีว่าเป็นการกดขี่ และเป็นการแสวงหาอำนาจของผู้ชาย  หนังสือโป๊ทำให้ผู้หญิงไร้ความเป็นมนุษย์ และลดคุณค่าของผู้หญิงให้เป็นเพียงวัตถุสิ่งของ   มุมมองจากนักศีลธรรม และพวกอนุรักษ์นิยมเชื่อว่าหนังสือโป๊ทำให้มนุษย์หยาบกระด้าง รุนแรงก้าวร้าว เนื่องจากคนเหล่านี้ให้คุณค่าแก่ระบบครอบครัวเดี่ยว ที่สามีภรรยาต้องซื่อสัตย์ในชีวิตแต่งงาน การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มิใช่สามีหรือภรรยาจึงเป็นสิ่งต้องห้าม และเป็นเรื่องสกปรก    ความหมายของการมีเพศสัมพันธ์ในแง่นี้จึงเป็นเรื่องของการสืบเผ่าพันธุ์มิใช่การแสวงหาความสนุก 
หนังสือโป๊จึงเป็นสิ่งที่อยู่นอกระเบียบครอบครัว เหมือนสิ่งสกปรกและอันตราย ภาพโป๊ และภาพกิจกรรมทางเพศที่เปิดเผย เป็นการแสดงลักษณะมั่วสุม ไร้ระเบียบ ผิดที่ผิดทาง ซึ่งขัดแย้งกับวิธีคิดแบบจารีตประเพณี   การแสวงหาความสำราญทางเพศที่มีหนังสือโป๊เป็นสัญลักษณ์จึงถูกประณามจากสังคมที่ยึดมั่นในศีลธรรม  และเป็นขั้วตรงข้ามกับพวกวัฒนธรรมย่อย เช่น เกย์ เลสเบี้ยน ซึ่งพึงพอใจกับการแสวงหาความสนุก และความตื่นเต้นทางเพศที่มีจินตนาการ อยู่นอกกฎระเบียบต่างๆ    หนังสือโป๊จึงเป็นสิ่งที่ไปกันได้กับรักร่วมเพศ และเป็นเรื่องที่เกย์นิยมชมชอบทั้งการเป็นเครื่องปลดปล่อยความใคร่ และการได้ค้นพบตัวตน

Dark magazine - Thai Gay Magazine


ความหมายของหนังสือโป๊ จึงเป็นเรื่องของการแบ่งแยก เหยียดหยาม และการใช้อำนาจ  เนื่องจากเรื่องเพศถูกสังคมกำหนดไว้ การแสดงออกทางเพศจึงมีวิธีที่บอกว่าอย่างไหนคือดีงาม และอย่างไหนคือเลวทราม หนังสือโป๊ที่เปิดเผยกิจกรรมทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง และแสดงบทบาทของผู้ชายที่กระทำต่อผู้หญิง มักจะถูกมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบ ผู้หญิงจะกลายเป็นผู้ที่ถูกกดขี่และตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชาย และนักวิชาการบางคนก็เชื่อว่าหนังสือโป๊เป็นบ่อเกิดของความรุนแรงทางเพศ   มีผู้พยายามแยกสิ่งที่เป็นอีโรติก (erotic) ออกจากสิ่งที่เป็นความรุนแรงทางเพศ โดยอธิบายว่าความอีโรติก คือความเท่าเทียม และมีอิสระที่จะเลือก แต่หนังสือโป๊ที่โจ่งแจ้งเต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหง
ความอีโรติกที่หมายถึงการกระตุ้นเร้าทางเพศคือสิ่งที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง และเป็นสิ่งที่ได้รับการถกเถียงว่าความอีโรติกวัดจากอะไร และหมายถึงอะไร   เนื่องจากอีโรติกมักจะแยกจากความรู้สึกทางเพศได้ยาก และมักจะเป็นเรื่องทางวัตถุ  การขีดขอบเขตให้กับอีโรติกจึงใช้เกณฑ์ทางศิลปะ เพื่ออธิบายว่าสิ่งที่เป็นอีโรติกนั้นมีความงาม  ถ้าการแสดงออกทางเพศบ่งบอกถึงความงามในเชิงศิลปะ หรือมีสุนทรียภาพ การแสดงออกนั้นก็เป็นอีโรติก   หนังสือโป๊ที่ไม่มีความงามก็จะเป็นสิ่งลามกอนาจาร สกปรก ต่ำช้า   นักคิดในสายแฟรงค์เฟิร์ท อธิบายว่าหนังสือโป๊เป็นสื่อสำหรับมวลชนที่ต้องการเติมเต็มความใคร่และอารมณ์ทางเพศ เพราะหนังสือโป๊เปิดเผยการกระทำต่างๆที่มนุษย์มีต่อเพศ ดังนั้นผู้ที่ดูและอ่านหนังสือโป๊จึงเป็นการเสพ หรือบริโภคความอยากทางอารมณ์ เพศจึงกลายเป็นสินค้าที่มีไว้ซื้อขาย และเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายในวัฒนธรรมทุนนิยม
บาร์บาร่า สมิธ กล่าวว่า หนังสือโป๊คือ ระบบทุนนิยมที่ฉาบด้วยเรื่องเพศ (sexualized capitalism) แต่ภาพเปลือยอีโรติกเป็นศิลปะของเพศ (sexualized arts)  หนังสือโป๊จึงเกิดขึ้นจากความคิดของการขายสินค้าเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด มิใช่เกิดขึ้นโดยมุ่งหวังความงามทางศิลปะหรือให้คุณค่าทางปัญญา  ในแง่นี้ทำให้เข้าใจว่ามวลชนสามารถเป็นเจ้าของสินค้าทางเพศได้ และการกระทำทางเพศที่พบเห็นในหนังสือจะกลายเป็นวิธีการที่นิยมอย่างกว้างขวาง หรือเป็นแม่แบบของการปฏิบัติที่คุ้นเคย   หนังสือโป๊จึงเป็นภาพตัวแทนวิธีคิดกระแสหลักของสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจ รวมทั้งวิธีคิดอื่นๆที่ยกย่องระเบียบหน้าที่ และเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ด้วย  ศิลปินจึงโจมตีหนังสือโป๊ แต่ยกย่องภาพเปลือยที่มีศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่ให้ทางเลือกใหม่ๆในการสร้างสรรค์ มิใช่การเดินตามความคิดแม่แบบ  ภาพเปลือยศิลปะกับภาพเปลือยอนาจารจึงขัดแย้งกันในเชิงอุดมคติ
นิตยสารโป๊ไทย - Hey!อย่างไรก็ตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับความอีโรติก สุนทรียะ และอนาจารยังคงมีอยู่   นักวิชาการบางคนอย่างซูซาน ซองเตจ์ กล่าวว่าภาพในหนังสือโป๊นั้นคืองานศิลปะที่ท้าทายมาก       ความคิดนี้ทำให้ต้องกลับมาทบทวนนิยามของคำว่าอีโรติกและสุนทรียภาพใหม่   นักคิดในกระแสpostmodern เชื่อว่าเราไม่สามารถนำความคิดแบบชนชั้นกลางมาแบ่งแยกว่าการแสดงออกทางเพศว่าอย่างไรดีหรือไม่ดี เพราะความคิดเช่นนั้นได้แบ่งแยกความดีและความเลว ซึ่งเป็นการกดขี่ และดูหมิ่นเหยียดหยามมนุษย์   การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของหนังสือโป๊ควรจะเป็นการศึกษารูปแบบวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือโป๊ว่าเป็นอย่างไร  (pornography as cultural category)
อัลลัน บลูม(1987) กล่าวว่าหนังสือโป๊ถูกมองว่าสกปรก นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 และเมื่อเฟมินิสต์ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิสตรี   เรื่องเพศขยายขอบเขตไปสู่การหาอิสรภาพและความเท่าเทียมกัน ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงว่าภาพโป๊เป็นการกดขี่ทางเพศหรือเป็นการแสดงออกถึงอิสรภาพทางเพศกันแน่     โฮมเบิร์ก (1998)กล่าวว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลงความหมายของศิลปะ ภาพถ่ายและภาพยนตร์มีผลทำให้ภาพโป๊เป็นสิ่งที่อยู่นอกระเบียบเหตุผล  สิ่งสำคัญก็คือ ภาพชายหญิงจะถูกให้คุณค่าใหม่ที่ต่างไปจากเดิม   เดิมชายหญิงต่างเชื่อในความสมบูรณ์ของตัวเอง แต่ภาพถ่ายโป๊เปลือยได้สร้างความรำคาญใจให้ระบบเหตุผลที่เชื่อมั่นว่า ชายหญิงจะไม่ถูกละเมิดความบริสุทธิ์ของตัวเอง   สิ่งสำคัญคือ เรื่องเพศในวัฒนธรรมตะวันตกมักจะถูกมองในแง่ลบ (sex negativity) และเป็นเรื่องที่น่าอับอาย  ดังนั้นความคิดที่มีต่อภาพเปลือยและโป๊ของมนุษย์จึงอาจมิใช่การโจมตีว่าเลวทราม แต่เป็นภาพสะท้อนของวัฒนธรรมความอายของสังคม 
หากย้อนกลับไปพิจารณาภาพเปลือยของมนุษย์ในสังคมตะวันตก จะพบว่ามีการสร้างเรื่องราวของคติความเชื่อต่อภาพเปลือย เช่น ภาพของอดัมกับอีฟ  ชายหญิงคู่นี้เป็นสัญลักษณ์ของการมีอารมณ์ความรู้สึก เมื่อทั้งคู่กินผลไม้ต้องห้าม ทั้งคู่ก็เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ และแยกแยะความดีกับความชั่ว อดัมกับอีฟเริ่มมองดูตัวเองในร่างกายที่เปลือยเปล่าแล้วเริ่มรู้สึกอับอาย พวกเขาจึงนำใบไม้มาปกปิดอวัยวะเพศ  คติความเชื่อเรื่องนี้บอกให้รู้ว่าการกินผลไม้ที่ต้องห้ามทำให้มนุษย์มีความอาย   ความอายจึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น การสร้างภาพเปลือยและโป๊ที่วางอยู่บนพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับความอายจึงถูกประณามจากสังคม
นอกจากนั้นวัฒนธรรมความอาย ยังมาพร้อมกับการให้คุณค่าทางร่างกายว่าชายหญิงควรจะมีรูปร่างสัดส่วนอย่างไรถึงจะสวยงาม ผู้ชายต้องมีกล้ามแข็งแรง ส่วนผู้หญิงต้องเพรียวบางอ่อนหวาน คุณค่านี้เปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย แต่มีร่างกายบางชนิดที่จะถูกมองว่า “น่าเกลียด” เช่น อ้วนเกินไป ผอมเกินไป เตี้ยเกินไป สูงเกินไป มีขนดกเกินไป ดำเกินไป หรือมีอวัยวะผิดปกติ ผู้ที่มีร่างกายน่าเกลียดก็จะตกอยู่ใต้วัฒนธรรมของความอาย และเป็นเครื่องเซ่นสังเวยให้กับร่างกายที่สวยงาม 
เท่าที่ผ่านมา ภาพเปลือยของมนุษย์ต่างถูกนิยามจากชนชั้นนำ และผู้ที่มีบทบาทชี้นำความรู้ให้สังคมความเชื่อที่มีต่อหนังสือโป๊จึงมาจากแหล่งๆเดียว ซึ่งมีความพยายามที่จะทำให้คนในสังคมเห็นคล้อยตาม  คำถามก็คือเราถูกทำให้เชื่อตามนิยามเหล่านั้นได้อย่างไรและทำไมเราจึงปิดช่องทางเลือกอื่นๆที่สามารถนิยามความหมายของหนังสือโป๊ที่ต่างออกไป  บทเรียนจากสิ่งนี้ไม่ต่างไปจากปรากฏการณ์ของการมีเกย์ และการนิยามเพศที่สาม 
 

หนังสือโป๊ของเกย์

หนังสือโป๊ของเกย์เมื่อพิจารณารูปแบบ เนื้อหา และวิธีการแสดงออกทางเพศในหนังสือโป๊ของเกย์ อาจใกล้เคียงและไม่แตกต่างจากหนังสือโป๊ของผู้ชาย  เนื่องจากสิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากวิธีคิดแบบทุนนิยมเหมือนกัน  แต่ข้อถกเถียงที่ปรากฏในวงสังคมของเกย์ต่างไปจากข้อถกเถียงทางสังคมของรักต่างเพศ  หนังสือโป๊ในความคิดกระแสหลักนั้นเป็นความสกปรก ชั่วช้า เลวทราม และผิดศีลธรรม แต่เกย์มิได้มองสิ่งนี้ว่าเลวทราม  เกย์อาจมีจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องเพศ และต้องการ “เห็น” การแสดงออกทางเพศตามประสบการณ์ของตัวเอง  หนังสือโป๊ของเกย์จึงเป็นแบบจำลองความฝันทางเพศที่จับต้องได้    อย่างไรก็ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเกย์กับหนังสือโป๊ยังมีคำถามและข้อขัดแย้งที่จะได้วิเคราะห์ต่อไป
หนังสือโป๊ที่แสดงกิจกรรมทางเพศระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย อาจเป็นเรื่องสกปรกมากกว่า กิจกรรมทางเพศระหว่างชายหญิง ดังนั้น การเป็นหนังสือโป๊ของเกย์จึงมีความหมายพิเศษ   นักวิชาการบางคนอธิบายว่าหนังสือโป๊เป็นเครื่องมือสำหรับเกย์ในการปลดปล่อยความต้องการทางเพศ เพื่อที่จะหลีกหนีการมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะหวาดกลัวโรคเอดส์  แต่เหตุผลนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้กับชายหญิงทั่วไป และไม่ได้ทำให้เข้าใจว่าเกย์ยังมีวิธีการอื่นๆที่จะปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศนอกเหนือไปจากการใช้หนังสือโป๊  นอกจากนั้น ความกลัวโรคเอดส์อาจมิใช่เรื่องสำคัญที่ทำให้เกย์คนหนึ่งใช้หนังสือโป๊ในการสำเร็จความใคร่ก็ได้
thai-nude-model


ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมอธิบายว่า หนังสือโป๊ของเกย์คือการตอกย้ำความสกปรก ความมั่วสุม การเปลี่ยนคู่นอน และการมีเพศสัมพันธ์แบบส่ำส่อน นอกจากนั้น ภาพกิจกรรมการร่วมรักของเกย์ยังเป็นการผลิตซ้ำความคิดที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และการข่มขี่ข่มเหงเพศที่อ่อนแอ  สโตลเทนเบิร์กกล่าวว่าหนังสือโป๊ของเกย์ แสดงภาพการร่วมรักที่ไม่ต่างไปจากกิจกรรมทางเพศที่ชายและหญิงพึงจะมี กล่าวคือ บทบาททางเพศของเกย์เป็นภาพจำลองมาจากความคิดที่แบ่งระหว่าง ผู้กระทำกับผู้ถูกระทำ ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าคือผู้กระทำ เช่นเดียวกับการที่ผู้ชายใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือระบายความใคร่ และกามารมณ์
พวกที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมอธิบายว่า การนำหนังสือโป๊ของเกย์ไปเปรียบเทียบกับหนังสือโป๊ของรักต่างเพศนั้น ได้ทำลายรูปแบบ หรือลักษณะเฉพาะของการแสดงออกทางเพศที่เกย์มีอยู่  เพราะกิจกรรมทางเพศของเกย์เป็นเรื่องเฉพาะที่โยงใยวิธีคิด วิถีชีวิต และทัศนคติ ซึ่งต่างไปจากรักต่างเพศ  ดังนั้น หนังสือโป๊ของเกย์เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมของเกย์ที่หล่อหลอมการปฏิบัติที่ต่างออกไป   และเป็นไปไม่ได้ที่เกย์จะเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศของชายหญิง   นอกจากนั้น เงื่อนไขในการมีเพศสัมพันธ์ของเกย์ก็ไม่เหมือนกับหญิงและชาย วิธีการแสดงออกในหนังสือโป๊ของเกย์จึงเป็นเรื่องของประสบการณ์
หากย้อนกลับไปดูว่าหนังสือโป๊ของเกย์เกิดขึ้นมาอย่างไร ภายใต้สถานการณ์และสภาพแวดล้อมอย่างไร จะพบว่าในช่วงที่เทคโนโลยีการพิมพ์เจริญก้าวหน้า สิ่งพิมพ์ของเกย์ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร นิยาย เรื่องสั้น ล้วนเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งอยู่ในบรรยากาศของการเรียกร้องสิทธิของเฟมินิสต์ คนผิวดำ และกลุ่มรักร่วมเพศ   บรรยากาศนี้มาพร้อมกับการขยายตัวของเมืองและทุนนิยม การผลิตสินค้าเพื่อคนจำนวนมากทำให้เกิดสื่อสิ่งพิมพ์แพร่หลายมากขึ้น
หนังสือโป๊ของเกย์ในระยะแรกๆอาจมีรูปภาพของชายหนุ่ม รูปแบบเกย์รูปร่างหน้าตาดี ถอนเสื้อผ้า และเปลือยกายในอริยาบทต่างๆ แต่การเปลือยกายก็ค่อยๆเปิดเผยให้เห็นอวัยวะ “ของลับ” มากขึ้น จากที่ปกปิดบ้างก็กลายเป็นเปิดเผยทั้งหมด  นอกจากนั้น ยังมีภาพของการร่วมรักอย่างชัดเจน ตั้งแต่สองคนไปจนถึง “เซ็กซ์หมู่”  นักวิชาการบางคนอธิบายว่า การแสดงภาพกิจกรรมเช่นนี้คือการตอกย้ำความเป็น “วัตถุ” ทางเพศเพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะการเน้นภาพของ “ลึงค์” หรือองคชาตของผู้ชาย เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในการเปิดเผยให้เห็นว่ากิจกรรมทางเพศอยู่ตรงไหน  อวัยวะเพศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และถูกเน้นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  การเน้นภาพของลึงค์คือการติดยี่ห้อให้กับอวัยวะ เป็นการสร้างตราประทับว่ามันคือ “วัตถุ” บางอย่างที่มีค่า สวยงาม และเป็นที่ต้องการของเกย์ที่จ้องดูมัน  ภาพเปลือยของชายหนุ่มในหนังสือโป๊จึงเป็นสินค้าทางเพศ ยิ่งชายหนุ่มคนนั้นมีรูปร่างหน้าตาดีเท่าใด ก็ยิ่งเป็นสิ่งค้าที่น่าจับจอ
งมากเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หนังสือโป๊มีประวัติศาสตร์ยาวนานเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้ชาย ในขณะที่เรื่องเพศที่สามถูกอธิบายว่าเป็นความผิดปกติ แต่เมื่อหนังสือโป๊เข้ามารองรับอารมณ์ทางเพศของเกย์ หนังสือโป๊ก็กลายเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้กับนายทุนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา   โจ  โทมัสอธิบายว่าหนังสือโป๊ และวีดีโอเอ็กซ์ของเกย์นั้นเป็นทั้งกระจกสะท้อนภาพสังคมของเกย์ และวิธีคิดของเกย์ที่มีต่อเรือนร่างและสรีระ รวมทั้งอุดมคติเกี่ยวกับ “ความเป็นชาย” (Masculinity)  การแสวงหาอัตลักษณ์ และวิถีชีวิต 

หนังโป๊เกย์ในการศึกษาของโทมัสเรื่องพัฒนาการของหนังสือโป๊และวีดีโอของเกย์ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นต้น ทำให้
เข้าใจว่า รูปแบบของการนำเสนอสื่อเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป   หนังสือโป๊ของเกย์มิได้เพียงแต่สร้างภาพจำลองโลกแห่งจินตนาการทางเพศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสินค้าในโลกทุนนิยมของนักธุรกิจ ยิ่งการแข่งขันทางด้านนี้มีมากขึ้นเท่าไร หนังสือโป๊ก็ยิ่งมีรูปแบบแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองรสนิยม ความต้องการ และกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันไป   หนังสือโป๊ของเกย์จึงมี “หีบห่อ”( package)  เฉพาะที่มาพร้อมกับโฆษณาขายสินค้าหลายประเภท เช่น วีดีโอ ถุงยางอนามัย อวัยวะเพศเทียม สารหล่อลื่น หรือยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น
ความซับซ้อนในธุรกิจหนังสือโป๊สำหรับเกย์ อาจเป็นเพียงภาพบางส่วนของการครอบงำด้วยลัทธิบริโภค แต่การกล่าวหาว่าเกย์ตกเป็นเหยื่อทุนนิยมอาจเป็นการด่วนสรุปเกินไป   คำถามที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ทำไมหนังสือโป๊จึงสร้างภาพลักษณ์ความเป็น “สินค้า” ได้แนบเนียนจนทำให้ลืมไปว่ามันคือผลผลิตทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในสังคมของเกย์ และเกย์อธิบายความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร เมื่อหนังสือโป๊กำลังปรับรูปโฉมและพยายามมีข้อเสนอใหม่ๆต่อสังคมของเกย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ประเด็นคำถามเหล่านี้ เราจะลองทบทวนและวิเคราะห์ในหัวข้อต่อไป

กรณีศึกษา หนังสือโป๊ในสังคมเกย์ในประเทศไทย

เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวของหนังสือโป๊สำหรับเกย์ในสังคมไทย อาจย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา แต่ช่วงเวลานี้หนังสือโป๊ของเกย์มิได้มีภาพลักษณ์แบบลามกอนาจาร หรือนำเสนอภาพเปลือยของนายแบบที่ไม่ปกปิดร่างกายอย่างเช่นในปัจจุบัน  ในช่วง พ.ศ.2526  หนังสือเกย์รุ่นแรกๆเกิดขึ้นมาพร้อมกับความท้าทายสำหรับการ “เปิดเผย” ตัวตนของผู้ที่เป็นเกย์  เนื่องจากสังคมไทยความหมายของรักร่วมเพศ หรือ การเป็น “เกย์” นั้นยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่ม   ก่อนหน้า พ.ศ.2526 มีหนังสือชื่อ “เชิงชาย” ได้นำเสนอเรื่องราวของความเป็นชายเพื่อตอบสนองผู้ที่ต้องการ “เสพ” ความเป็นชายอย่างเปิดเผย โดยใช้แนวคิดที่ว่า “พลังแห่งความเป็นชายเป็นได้ทั้งหนามแหลม และกลีบดอกที่อ่อนไหว? คุณเองก็อาจเป็นเช่นนั้น”  หนังสือเล่มนี้เป็นนิตยสารรายเดือนที่วางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2525 ใต้ชื่อหนังสือมีคำโปรยว่า “นิตยสารรายเดือน เพื่อเน้นถึงสรีระแห่งความเป็นชาย”

คอลัมน์ที่ปรากฏอยู่ในนิตยสารเชิงชาย ได้แก่ สารคดี เรื่องสั้น เรื่องแปล เรื่องน่ารู้ นัดพบ คลินิก ประสบการณ์ เครื่องเสียง กฎหมาย ชิม ค็อกเทล กีฬา แฟชั่น ชายสวย และที่สำคัญที่สุดคือภาพชุดพิเศษ ซึ่งมีภาพชายหนุ่มเปลือยกายในลักษณะปกปิดอวัยวะเพศ บรรณาธิการของหนังสือกล่าวว่า “เรากำลังเสนอตัวออกมารองรับอารมณ์ของคุณ เพื่อให้สังคมรับรู้ ความรัก ความต้องการและความเป็นจริงที่มีอยู่ในตัวคุณ”  คำชี้แจงดังกล่าวนี้ถึงแม้จะไม่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าทำเพื่อชาวเกย์ แต่ความหมายก็ไม่ต่างกัน เพราะในคอลัมน์ต่างๆล้วนมีการพูดถึงเกย์ในแง่มุมต่างๆ และสัมภาษณ์เกย์ที่มีชื่อเสียงในสังคม  อย่างไรก็ตาม นิตยสารเชิงชายก็ยังนำภาพเปลือยของผู้หญิงรวมเข้าไว้ในเล่มด้วย เพื่อขายให้กับลูกค้าที่เป็นชายแท้ หรือหญิงแท้
ในปี พ.ศ.2525 มีนิตยสารแนวเดียวกับเชิงชายออกเผยแพร่ ชื่อว่า Boy โดยมีคำโฆษณาบนหน้าปกว่าเป็น “เอกลักษณ์ใหม่ของบุรุษเพศ”   และมีภาพเปลือยของผู้ชายปรากฎอยู่   ในปี พ.ศ.2526 นิตยสารมิถุนาออกเผยแพร่ในแนวเดียวกับนิตยสารเชิงชาย เพราะนำเสนอภาพเปลือยของทั้งชายและหญิง  มิถุนาโฆษณาตัวเองว่าเป็นนิตยสารรายเดือนสำหรับคนทุกเพศ แต่ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ.2527  มิถุนาก็ได้ทำนิตยสารเกย์ขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ยังคงเอาใจลูกค้าที่เป็นสตรี โดยใช้แนวคิดว่า “เพื่อนที่ดีสำหรับสุภาพสตรีผู้อ่อนไหว และสุภาพบุรุษชาวดอกไม้”  คำว่าสุภาพบุรุษชาวดอกไม้ในที่นี่หมายถึงเกย์  มิถุนาพยายามโฆษณาตนเองโดยเฉพาะเรื่องนายแบบ ลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิกจะได้แถมภาพลับเฉพาะ( ภาพเปลือยนายแบบที่ไม่ปกปิดร่างกาย)
มิถุนามีคอลัมน์หลายประเภท เช่น กระทบไหล่หนุ่มหล่อ หล่อบุคลิก นู้ดชายหนุ่ม นู้ดต่างประเทศ เรื่องสั้น รักและเข้าใจเกย์ ประสพการณ์ทางเพศ และ Gemini Club ซึ่งเป็นคอลัมน์หาคู่หาแฟน  นายแบบที่นำมาลงในนิตยสารมี 2 คน คนหนึ่งจะสวมเสื้อผ้าและโพสต์ท่าในอริยาบทต่างๆ (คอลัมน์หล่อบุคลิก) ส่วนอีกคนหนึ่งจะเปลือยกายแบบนู้ด (คอลัมน์นู้ดชายหนุ่ม)  พร้อมกับมีการสัมภาษณ์นายแบบ และให้ผู้อ่านสั่งซื้อภาพลับของนายแบบไปชื่นชม โดยมีการโฆษณาว่า 

แรงระเบิดแห่งความปรารถนาของคุณ  หลังจากคุณได้โลมไล้สายตากับภาพชุดนายแบบ
ประจำฉบับนี้มาแล้ว อาจมีบางสิ่งบางอย่างคั่งค้างอยู่ในใจของคุณ  คุกรุ่นและเร้าร้อน
มีบางสิ่งเป็นกำแพงขวางกั้นภาพฝันอันบรรเจิดของคุณ  ถ้าคุณต้องการระเบิดกำแพงที่
ขวางกั้น  คุณต้องจุดชนวนด้วยมือของคุณเอง  เรากำลังรอคุณอยู่ด้วยภาพลับเฉพาะของ
แทน พลากุล (ชื่อนายแบบสมมุติ) ในลีลาซึ่งไม่สามารถเปิดเผยในที่นี้ได้ จำนวนภาพ
5 ภาพ 4 สีสวยสด สะสาใจ ขนาดซุปเปอร์จัมโบ้ (ใหญ่กว่าโปสการ์ด) ซึ่งจะไม่มีกำแพงใดๆ
ขวางกั้นสายตาของคุณอีกต่อไป  ตรึงตาตรึงใจเกินกว่าที่คุณคิดวาดฝัน  ถ้าคุณต้องการ
เพียงแต่กรอกรายละเอียดลงในบัตรด้านหลังนี้ แจ้งความต้องการไป เราคิดค่าล้างอัด
ขยายพร้อมทั้งค่าส่งลงทะเบียนชุดละ 100 บาท คุณจะได้รับภาพเฉพาะภายใน 10 วัน.

นายแบบมิถุนาส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด และเข้ามาเรียนหนังสือหรือทำงานในกรุงเทพฯ คำบอกเล่าทำให้เข้าใจว่านายแบบเหล่านี้มีชีวิตที่ลำบากในตอนเด็ก ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และการมาเป็นนายแบบก็คือการหารายได้ประเภทหนึ่ง   ในคอลัมน์สัมภาษณ์ที่ถามว่าถ้ามีผู้ชายมาขอนอนด้วย จะทำอย่างไร นายแบบตอบว่า “ ถ้ามีผู้ชายมาขอนอนด้วย ผมก็คงปฏิเสธ คิดว่าผมคงทำไม่ได้  จะบอกเค้าว่าเราเป็นเพื่อนกัน เพื่อนเที่ยวดีกว่า อย่าให้ถึงกับเป็นเพื่อนนอนเลย”
ผู้ชมผู้อ่านที่ซื้อนิตยสารมิถุนา เขียนจดหมายมาถึงบรรณาธิการเพื่อบอกเล่าความคิดเห็นของตน ดังเช่น เสนอแนะและวิจารณ์เกี่ยวกับนายแบบ “อยากเสนอว่าต่อไปนายแบบกรุณาอย่าใส่เครื่องประดับได้ไม๊ อาทิตุ้มหูของนายแบบ ดูแล้วรู้สึกขัดๆกับอารมณ์ไปบ้าง แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย”   บางคนเสนอว่า “ภาพถ่ายนายแบบผมว่านุ่งบิกินี่ที่กำลังโฆษณาอยู่ขณะนี้แจ๋วกว่าแก้ผ้าแล้วเอาชายผ้าปิดนะครับ  นุ่งกางเกงในยังมีริ้วรอยพาเสียวบ้าง”  บางคนวิจารณ์ภาพลับเฉพาะ “ภาพลับเฉพาะของหนังสือมิถุนานั้น ผมสั่งอัดไปแล้ว 3-4 ชุด แต่ไม่เคยมีชุดใดที่จะสบอารมณ์สักชุดเดียว เพราะภาพที่ออกมาไม่คึกคักและใส่อารมณ์ในภาพเลย สู้ภาพของหนังสือ นีออน เขาไม่ได้เลย”  บางคนสงสัยลักษณะของนายแบบ “Nude ฉบับนี้ถูกใจมาก แม้ว่าจะรู้สึกแปลกๆ กับนายแบบที่ไม่ยอมให้เห็นหน้าคนนั้น ไม่รู้ว่าเป็นความคิดของช่างภาพหรือนายแบบเอง  ดูแล้วมันขัดความรู้สึกชอบกลนะ”
ผู้อ่านนิตยสารบางคนเขียนจดหมายมาถึงบรรณาธิการเพื่อให้ถ่ายนายแบบในลักษณะที่ตนเองต้องการ เช่น ขอร้องว่า “ผมอยากจะขอร้องว่า ให้เห็นนิดๆหน่อยๆ ของนายแบบบ้างเพื่อดูแล้วให้สยิว  หรือนุ่งกางเกงในบางๆเห็นขน เห็นองคชาตินิดๆ ดูมีชีวิตดี  สงสารคนจนบ้าง เช่นผมกำลังแตกพาน และยอมรับว่าชอบและอยากจะได้ภาพพิเศษ ถ้าเห็นข้างในหมดตัว”  แต่บรรณาธิการก็มีข้อทวงติงเพื่อจุดยืนของหนังสือ “ให้นุ่งกางเกงบางๆ เห็นขนเห็นองคชาตินิดๆ นั่นมันปกขาวแล้วคุณ ทางเรายังตามใจคุณบ่ได้หร็อก”
จะพบว่าความต้องการของผู้อ่าน ในฐานะผู้ซื้อสินค้าต้องการให้นายแบบเป็นไปตามที่ตนเองอยากได้ ซึ่งเส้นแบ่งความเปลือยหรือโป๊นั้นไม่อาจวัดได้จากผู้อ่าน หากแต่ผู้ทำหนังสือมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าอย่างไรคือเปลือยแบบโจ่งครึ้ม และอย่างไรคือเปลือยศิลปะ  แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือยุคแรกไม่อาจเปิดเผยให้เห็นองคชาติของนายแบบได้ก็คือเรื่องความหวาดระแวงทางสังคม ถ้านำภาพนายแบบที่เห็นอวัยวะเพศออกเผยแพร่ เจ้าของหนังสือก็อาจถูกจับ  ทางเดียวที่ทำได้ก็คือให้ผู้อ่านสั่งภาพพิเศษตามราคาที่กำหนด ซึ่งสร้างความปลอดภัยในทางสังคมและมีรายได้ที่ดีในเวลาเดียวกัน  อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องคลุมเคลือมากขึ้นเมื่อการเปิดเผยองคชาติของนายแบบมิใช่เงื่อนไงของความปลอดภัยทางสังคม   นิตยสารเกย์ในช่วงทศวรรษที่ 2540 ต่างเปิดเผยสรีระของนายแบบทุกสัดส่วน สิ่งนี้มีความหมายต่อชีวิตเกย์ ซึ่งจะอธิบายในลำดับต่อไป
ปีเตอร์ แจ็คสัน (1995) กล่าวว่าอัตลักษณ์แบบเกย์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาจากกลุ่มคนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก และพยายามเลียนแบบวิถีชีวิตของเกย์ในตะวันตก  มีการอ้างว่า “เกย์” ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ.2516  สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในหนังสือเกย์รุ่นแรกๆ เช่น ปี พ.ศ. 2527 มิถุนาและนีออน ปี พ.ศ.2528 มรกต(เดิมชื่อเพื่อนเพทาย) และเกสร(นิตยสารในเครือมิถุนา)  ปี พ.ศ.2529 มิดเวย์  ปี พ.ศ. 2530 Him  ปี พ.ศ.2531 My Way เป็นต้น    นิตยสารเหล่านี้พยายามเป็นตัวแทนของชาวเกย์ ซึ่งถูกเรียกในเชิงสัญลักษณ์ว่า “ชาวดอกไม้”  บรรณาธิการนิตยสาร My Way ได้กล่าวถึงความสำคัญของนิตยสารแนวนี้ว่า

ประการหนึ่งมองเห็นว่า หนังสือประเภทนี้ยังมีความต้องการในท้องตลาดมาก
ที่มีอยู่แล้วก็ยังไม่พอเพียง  อีกประการหนึ่ง มองเห็นว่าบุคลากรที่เป็นพวกเดียวกัน
ที่มีความสามารถยังมีอีกมากมาย  จะมองข้ามไปได้อย่างไร และอีกประการหนึ่ง
อีกเช่นกัน วันเวลาที่ผ่านมาได้เตือนอยู่เสมอว่า เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วยังไม่สมควร
ที่จะหยุดพัก ยังมองเห็นว่า ยังทำอะไรๆได้อีก..

นิตยสารเกย์นำเสนอเรื่องราวของรักร่วมเพศ และตอกย้ำความหมายของ “เกย์” ด้วยคอลัมน์ และเรื่องแต่ง  เช่น การแนะนำว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรสำหรับการเลือกคู่ครอง  การสารภาพกับครอบครัว การวางตัวในสังคม การทำกิจกรรมร่วมกันสำหรับผู้ที่เป็นเกย์ มีการนัดพบกันในงานเลี้ยงบ้าง หรือร่วมเดินทางท่องเที่ยวด้วยกัน  มีเรื่องสั้นเกี่ยวกับชีวิตของเกย์ เรื่องราวจากประสบการณ์ที่เป็นความรัก ความสมหวัง ความผิดหวัง และเรื่องเกี่ยวกับเซ็กซ์ มีคอลัมน์แนะนำสถานที่พบปะของเกย์ เช่น ซาวน่า บาร์เกย์  ร้านอาหาร  สถานอาบอบนวด ดิสโก้เธค เป็นต้น  นอกจากนั้น ยังมีเรื่องซุบซิบนินทาในแวดวงสังคม วงการบันเทิง เช่น การพูดถึงนักแสดงบางคนที่อาจมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ หรือ การแหน็บแนม หยอกล้อ คนในธุรกิจของเกย์ เป็นต้น
สิ่งที่ขาดไม่ได้ของหนังสือเกย์รุ่นแรกๆก็คือ ภาพนายแบบ   ผู้จัดทำหนังสือจะเลือกนายแบบจากแหล่งต่างๆ เช่น ประกาศรับสมัครชายหนุ่มรูปร่างดีและมีความมั่นใจในตัวเองให้มาถ่ายภาพในหนังสือโดยมีค่าตอบแทนให้  หรืออาจนำ “เด็ก” ในบาร์มาขัดสีฉวีวรรณให้หล่อเหลาและนำมาถ่ายแบบลงในหนังสือ  กลวิธีหานายแบบนี้อาจมีความลึกลับซับซ้อน หรือเป็นปริศนา แต่มันจะถูกเปิดเผยให้เห็นที่มาในบทสัมภาษณ์นายแบบ  ภาพนายแบบระยะแรกยังคงปกปิดอวัยวะเพศ  เผยให้เห็นแต่เพียงช่วงหน้าอก ช่วงขา นายแบบอาจสวมกางเกงขาสั้น กางเกงกีฬา กางเกงชั้นในหรือใช้ผ้าปกปิดอวัยวะเพศ
สถานที่อาจใช้ในห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ห้องครัว ริมระเบียง สระว่ายน้ำ สนามหญ้า หรือนอกสถานที่ เช่น ริมถนน ชายทะเล ในเขตทุ่งหญ้า ทุ่งนา น้ำตก หรือในป่า  นายแบบจะถูกจัดว่างท่าทางโดยมีผู้ควบคุม เช่นตากล้อง ช่างแต่งหน้า และทีมงาน  การตกแต่งนายแบบนี้เริ่มมีความพิถีพิถันมากขึ้นในเวลาต่อมา เช่น ให้นายแบบสวมเครื่องประดับ สร้อยคอ กำไล เข็มขัด นุ่งโจงกระเบน โพกศรีษะแบบชาวล้านนา  นายแบบจะถูกจัดวางในพื้นที่ที่ตกแต่งสวยงามให้เข้ากับเครื่องแต่งกาย เช่น อยู่ในห้องนอนที่ประดับด้วยผ้าม่าน ลูกไม้ ดอกไม้ และเครื่องใช้ไม้สอยที่มีลวดลายสวยงาม เป็นต้น  ในระยะหลังได้มีคอลัมน์สัมภาษณ์นายแบบ และเบื้องหลังการถ่ายทำ โดยให้ข้อมูลนายแบบคนนั้นมาเป็นใครมาจากไหน ทำอะไรอยู่ ชอบกินอาหารอะไร เวลาว่างทำอะไร มีแฟนหรือยัง เคยมีประสบการณ์ทางเพศกับเกย์หรือไม่ เสียตัวครั้งแรกเมื่อไหร่ อวัยวะเพศ หรือ “ของลับ” มีขนาดเท่าไร เป็นต้น
นายแบบบางคนมักจะให้ข้อมูลว่าเขาเคยมีประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชาย แต่ก็มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงด้วย  บางคนบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเกย์ให้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจมากกว่าผู้หญิง และเป็นสิ่งที่ไม่น่ารังเกียจ  บางคนบอกว่าเป็นผู้ชายแท้ๆแต่อยากลองมีอะไรกับเกย์  นายแบบเหล่านี้อาจมาจากบาร์ และมีอาชีพเป็น “เด็กขาย” หรือรู้จักในแวดวงว่าเป็น “เด็กออฟ”  พวกเขาจึงมีประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชาย และไม่อายที่จะถ่ายแบบเปลือยในหนังสือ  นายแบบส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด และมีพื้นฐานทางครอบครัวที่ยากจนหรือเป็นเกษตรกร  เมื่อเข้ามากรุงเทพฯ มีคนรู้จักชักชวนให้มาทำงานที่บาร์ จึงตัดสินใจทำงานประเภทนี้เพราะเห็นว่ารายได้ดีและไม่ต้องใช้ความรู้อะไร 
สิ่งสำคัญของการเป็นนายแบบในหนังสือเกย์ ก็คือ ต้องเป็นผู้ชายที่มีรูปร่างหน้าตาดี และมีขนาดของอวัยวะเพศที่ค่อนข้างใหญ่  เนื่องจากผู้จัดทำหนังสือจะมี “ภาพลับ” ของนายแบบเพื่อให้ผู้อ่านสั่งซื้อภาพของนายแบบผ่านทางไปรษณีย์ หรือทางอื่นๆที่เป็นข้อตกลงกันโดยมีแบบฟอร์มการสั่งซื้อภาพเป็นชุดแนบไว้ในหนังสือทุกครั้ง  ภาพลับของนายแบบนี้เป็น “จุดขาย” ของหนังสือเกย์และเป็นรายได้ที่สำคัญต่อการอยู่รอดของหนังสือประเภทนี้  “ภาพลับ” ในที่นี่หมายถึงภาพเปลือยร่างกายทั้งหมดของนายแบบ เผยให้เห็นทุกสัดส่วนของร่ายกาย เห็นอวัยวะเพศที่แข็งตัวของนายแบบ และที่สำคัญคือเห็นนายแบบกำลัง “ช่วยตัวเอง” หรือสำเร็จความใคร่ เห็นการหลั่งน้ำอสุจิและการถึงจุดสุดยอด ภาพเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน  ผู้อ่านที่ต้องการเห็นภาพลับเหล่านี้ต้องสั่งภาพไปที่หนังสือโดยตรง และเจ้าของหนังสือจะจัดส่งภาพมาให้ในระยะเวลาที่กำหนด
เจ้าของนิตยสารเกย์บางฉบับยังมีความรู้สึกว่าการเปิดเผยภาพเปลือยนายแบบบนปกอาจทำให้ลูกค้าไม่กล้าซื้อ เช่น นิตยสารมรกต  บรรณาธิการกล่าวว่า “เรื่องเอานายแบบแฟชั่นขึ้นปกนั้น อันนี้เป็นนโยบายของหนังสือเราครับ  เราไม่อยากให้ท่านต้องปั้นสีหน้าเวลาไปซื้อหนังสือตามแผง ปกแฟชั่นรักษาหน้าท่านไว้ได้ดีกว่าปกนู้ดครับ  แม้ท่านจะไม่เห็นหน้านายแบบนู้ดบนปก แต่เราก็รับประกันว่าท่านจะไม่ผิดหวัง”
หนังสือเกย์เล่มหนึ่งอาจมีขนาดเท่าพ็อคเก็ตบุค ไปจนถึงขนาดเท่าแม็คกาซีนทั่วไปราคาของหนังสือในระยะแรกมีตั้งแต่ราคา 20 บาทไปจนถึง 35 บาท  ต่อมาราคาค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็น 50 บาท 80 บาท 100 บาท หรือ 120 บาท  ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2530  หนังสือเกย์เริ่มพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย และมีคอลัมน์หลายประเภท เช่น แนะนำเพลง ภาพยนตร์ สถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมสำหรับชาวเกย์ นวนิยาย เรื่องสั้น บทสัมภาษณ์เกย์ชื่อดัง และคอลัมน์หาเพื่อน(หาคู่)    หนังสือเกย์รุ่นใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 2530 ได้แก่ เมล์ (Male) และฮีต (Heat) ที่มีขนาดเท่าแม็คกาซีน  รวมทั้งหนังสือในแนวเดียวกันอีกหลายฉบับซึ่งออกเผยแพร่ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น ไวโอเล็ต ,ฮ็อตกาย, แมน ,จีอาร์เป็นต้น  แต่หนังสือเมล์และฮีตได้ปฏิวัติความหมายของ “ภาพเปลือย” ของเกย์ ในหลายเรื่อง ที่สำคัญ 3 ประการ คือ 
ประการแรก หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่มีภาพสีล้วนๆและมีราคาสูง  ช่างภาพที่ถ่ายรูปเป็นผู้ที่มีมุมมองทางศิลปะ สามารถจัดแสงเงา ฉาก เครื่องประดับและองค์ประกอบของภาพ ให้ออกมางดงาม ต่างไปจากภาพที่เคยมีอยู่ในหนังสือเกย์รุ่นแรกๆ  ภาพลักษณ์นี้คมชัดและเน้นรายละเอียดของนายแบบ ได้แก่ รายละเอียดของรูปร่างหน้าตา กิริยาอาการ บุคลิก สีหน้า เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า และสถานที่  นายแบบที่ปรากฏในหนังสือจะได้รับการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี ซึ่งอาจมาจากบาร์ออฟ หรือสถานที่พักผ่อนที่เรียกว่าบาร์นวดของชาวเกย์  นายแบบในหนังสือเมล์ และฮีต จึงได้รับการกล่าวขานในหมู่เกย์ทั่วไปว่า “มีคุณภาพ”   ประกอบกับราคาของหนังสือที่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยประมาณ 400-600 บาทต่อเล่ม    นายแบบจึงได้ตราประทับว่าถ้าได้ถ่ายแบบในหนังสือเมล์ หรือฮีต ก็จะเป็นนายแบบชั้นแนวหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการเป็น “ดารา” ในบาร์ออฟ หรือบาร์นวด ได้รับชื่อเสียง และมีแขกมาออฟไม่ขาดสาย  นั่นหมายถึงการมีรายได้และค่าตัวที่เพิ่มขึ้น
ประการที่สอง หนังสือไม่มีบทความหรือข้อเขียนใดๆอยู่ในนั้น ต่างไปจากหนังสือเกย์รายเดือน  หนังสือเมล์และฮีตผลิตออกมาจำหน่ายขึ้นในวาระพิเศษ  ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน  หนังสือจึงเป็นเหมือนหนังสือรวมรูปภาพ  แต่ในระยะหลังเมล์ได้ผลิตหนังสือที่มีคอลัมน์ประกอบ และมีขนาดเท่าแม็คกาซีน ซึ่งต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 2540 มีหนังสือในแนวเดียวกันนี้ผลิตออกมาจำหน่ายหลายฉบับ เช่น เอ็ม , ดอร์ , เคเอ็กซ์เอ็ม , ดิ๊ก. ,เอช, เอ็มแอนด์เอ็ม , เกย์แม็กซ์ เป็นต้น  นิตยสารเกย์ในช่วงทศวรรษที่ 2540 มีราคาประมาณ 200 บาทขึ้นไป
ประการที่สาม หนังสือฮีต นำเสนอภาพเปลือยนายแบบแบบโจ่งแจ้งเปิดเผยให้เห็นอวัยวะเพศของนายแบบอย่างชัดเจน แต่ในระยะแรกอาจมีการปกปิดบ้าง  เมื่อมีการเปิดเผยเช่นนี้ทำให้ราคาหนังสือจึงสูงเพิ่มขึ้น ถ้านายแบบคนนั้นมีรูปร่างหน้าตาดี หนังสือก็อาจขายหมดเร็ว   นอกจากนั้น อาจมีการใช้นายแบบหลายคน เป็นคู่ หรือมากกว่านั้น แสดงท่าร่วมรัก และสำเร็จความใคร่อย่างเปิดเผย   ภาพดังกล่าวนี้คือการสร้างความหมายใหม่ให้กับหนังสือเกย์   หนังสือเกย์เล่มแรกที่นำนายแบบมาถ่ายคู่คือมิถุนา ซึ่งออกเผยแพร่ในปี พ.ศ.2527
นอกจากนั้น ภาพการร่วมรักยังเป็นประเด็นจุดขายที่สำคัญของหนังสือ ถ้าเล่มไหนมีตัวหนังสือเขียนว่า Special หมายถึงมีการเปิดเผยให้เห็น “ของลับ” ถ้าเล่มไหนเขียนว่า Extra หมายถึงมีการร่วมรักของนายแบบ  ซึ่งแต่ละเล่มอาจมีพล็อตเรื่องต่างกันไป เช่น ของขวัญวันเกิด บ้านพักชายหาด ความรัก  นายแบบจะแสดงเป็นตัวละครนั้นๆ และแสดงลีลาร่วมรักในแบบต่างๆ  ที่สำคัญคือมีภาพการถึงจุดสุดยอดของนายแบบแต่ละคน  เจ้าของหนังสือแนวนี้อาจมีบันทึกเบื้องหลังการถ่ายทำไว้ในรูปของวีดีโอ และผลิตเผยแพร่เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย
รูปลักษณ์ของนายแบบในหนังสือเกย์ มีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ และแตกต่างกันในหนังสือแต่ละชนิด   กล่าวคือ หนังสือรุ่นแรกๆเช่น มิถุนา มรกต หรือมิดเวย์  นายแบบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่มีรูปร่างหน้าตาคมสันแบบ “ไทยๆ”  ความหมายของไทยๆในที่นี้หมายถึง ผู้ชายที่มีสีผิวน้ำตาล หน้าตาคมเข้ม ต่างไปจากนายแบบประเภท “ตี๋” ซึ่งมีผิวขาว ตาชั้นเดียว  ในหมู่เกย์จะรับรู้กันว่า นายแบบประเภทไทยๆกับตี๋ๆนั้นต่างกัน และรสนิยมของเกย์ที่มีต่อนายแบบสองประเภทนี้ก็ต่างกันด้วย   จะพบว่าในหนังสือฮีต และหนังสือเกย์รุ่นหลังๆมีแนวโน้มที่จะใช้นายแบบที่มีลักษณะ “ตี๋ๆ” ซึ่งมีนัยยะของการเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น เพื่อตอบสนองคนที่ทำงานในเมือง  ในขณะที่นายแบบไทยๆจะถูกมองว่าเป็นภาพตัวแทนของชนชั้นแรงงาน     หรือเป็นพวกชาวไร่ชาวนา อย่างไรก็ตาม ไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัวว่าหนังสือเล่มนี้จะมีนายแบบตี๋หรือไทยเท่านั้น  ในทางปฏิบัติก็คือ หนังสือทุกเล่มอาจมีทั้งนายแบบตี๋และไทยคละเคล้ากันไป
สิ่งที่เพิ่มเติม หรือเป็นเรื่องใหม่ในวงการหนังสือเกย์ก็คือ การถ่ายภาพร่วมรักของนายแบบ ซึ่งฮีตเป็นหนังสือเล่มแรกที่นำแนวคิดนี้มาเผยแพร่    แต่ภาพการร่วมรักดังกล่าวถูกจัดฉากขึ้นในสถานการณ์ที่ถูกควบคุม  นายแบบจะถูกสั่งให้จูบกัน กอดกัน  ลูบไล้กัน อมอวัยวะเพศให้กัน  เล่นอวัยวะเพศของตัวเอง(ชักว่าว) หรือสำเร็จความใคร่ให้ตัวเอง  บางครั้งมีการสอดใส่อวัยวะเพศที่ทวารหนัก  การกระทำดังกล่าวนี้ถูกสร้างให้เป็นเรื่องราว กิริยาอาการต่างๆที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนธรรมชาติแต่มิใช่ธรรมชาติ  ตากล้องจะกำกับท่าทางของนายแบบเพื่อให้ออกมาดูได้อารมณ์ เช่น ควรจะวางมือ วางเท้าแบบไหน  แสดงสีหน้าอย่างไร ใช้สายตาอย่างไร จูบอย่างไรเป็นต้น
ท่าทางที่ถูกกำกับจึงเป็นท่าที่ถูกทำให้สวยเกินปกติ เช่น มีการวัดแสงเงาของนายแบบ แต่งหน้า แต่งผมให้นายแบบ เพื่อให้ออกมาหล่อ ใช้น้ำมันทาตัวของนายแบบเพื่อให้ผิวเป็นมันแวววาว เพื่อเน้นสัดส่วนและกล้ามเนื้อให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ในขณะที่การร่วมรักจริงๆมักจะไม่คำนึงถึงความสวยงามของท่าทาง หรือไม่สนใจว่าผมจะยุ่งเหยิงแค่ไหน   ภาพร่วมรักในหนังสือจึงเป็นแบบจำลองความสวยงามของการร่วมรัก  ถ้านายแบบทำไม่ได้ หรือท่าไม่สวย  ตากล้องก็จะเข้าไปกำกับท่าทางให้ใหม่   อารมณ์ของนายแบบจึงไม่ต่อเนื่องและไม่ใช่อารมณ์ของการร่วมรักจริงๆ  นายแบบจะถูกขัดจังหวะเพื่อให้มีการโพสต์ท่าที่สวยงาม  และที่สำคัญการแข็งตัวของอวัยวะเพศก็ถูกบังคับ  กล่าวคือ  นายแบบจะถูกบังคับให้ “ปั่น” อวัยวะเพศเพื่อให้มันแข็ง หรือถ้าไม่แข็งนายแบบก็จะดูหนังโป๊ หรือหนังสือโป๊ที่มีรูปภาพร่วมรักของชายหญิง    แต่ถ้ายังไม่แข็งอีกตากล้องก็จะใช้ผู้ช่วยเข้าไปไซร้ หรือทำออรัลเซ็กซ์   โดยการใช้ปากอมอวัยวะเพศให้นายแบบเพื่อทำให้มันแข็งตัว
บทบาทของผู้ช่วยมีความสำคัญมากในการถ่ายภาพดังกล่าว  กล่าวคือ ทีมงานหนังสืออาจประกอบด้วยตากล้อง ผู้ช่วยตากล้อง ช่างแต่งหน้า ช่างไฟ ผู้ช่วยถืออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งนายแบบจะต้องเปลือยกายต่อหน้าคนเหล่านี้  ผู้ช่วยทำออรัลเซ็กซ์ให้นายแบบจะเป็นผู้ที่กระตือรือร้นมากในหน้าที่ดังกล่าว เมื่อนายแบบไม่สามารถทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ พวกเขาก็จะเข้าไปทำออรัลเซ็กซ์ทันทีโดยไม่ต้องให้ใครบอก หรือสั่ง ฉะนั้นการแสดงการร่วมรัก หรือสำเร็จความใคร่จึงมิได้เกิดขึ้นในพื้นที่ลับหรือเป็นส่วนตัว  บรรยายการของการถ่ายภาพจึงเต็มไปด้วยความวุ่นวายอลหม่าน อาจมีการทำผมแต่งหน้านายแบบในขณะที่นายแบบกำลังร่วมรักกันอยู่  หรือ อาจมีการแซวกันระหว่างทีมงานกับนายแบบในขณะที่มีการร่วมรัก  เหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้จะถูกทำลายให้หายไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อภาพถูกนำเสนอในหนังสือที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
หนังสือฉบับอื่นๆพยายามนำแนวคิดเรื่องการร่วมรักไปใช้ ทำให้มีข้อสังเกตว่า หนังสือของเกย์มีแนวโน้มที่จะเปิดเผยอวัยวะทุกส่วนของนายแบบ และเปิดเผยกิจกรรมทางเพศทุกชนิดที่เกิดขึ้น   เมื่อเปรียบเทียบกับภาพร่วมรักของนายแบบในระยะแรกๆ จะพบว่า การแสดงอารมณ์ความรู้สึกของนายแบบต่างไปมาก  กล่าวคือการร่วมรักของนายแบบระยะแรก ไม่ได้มีการกอดจูบลูบไล้กันอย่างดูดดื่ม ไม่มีการสอดใส่อวัยวะเพศ นายแบบเพียงแต่ยืนคู่กัน จับมือโอบไหล่กันเสมือนเพื่อนชายมากกว่าคู่รัก   ในขณะที่ระยะหลัง นายแบบของหนังสือฮีต กอดจูบกันแบบคู่รัก มีการสอดใส่อวัยวะเพศ  แสดงอารมณ์สีหน้าท่าทางการร่วมรักได้มากกว่า หรือให้ความรู้สึกเหมือนการร่วมรักจริงๆได้มากกกว่า  แต่ทั้งนี้ กิจกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นเรื่องหลอกลวง หรือถูกจัดฉากไว้แล้ว
ภาพเปลือยและภาพกิจกรรมทางเพศของนายแบบ คือจุดขายทางการตลาด ยิ่งมีการเปิดเผยมากเท่าใดก็ยิ่งส่งเสริมการขายมากเท่านั้น  จะพบว่าหนังสือเกย์ในช่วงปัจจุบัน ภาพนายแบบมักโจ่งครึ้ม เปิดเผยให้เห็นอวัยวะเพศที่แข็งตัวอย่างชัดเจน  และที่สำคัญหน้าตาของนายแบบต้องหล่อสะดุดตา ซึ่งบางคนอาจหล่อกว่าดาราภาพยนตร์ หรือบางคนอาจอยู่ในวงการภาพยนตร์ หรือบันเทิง  กลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ เจ้าของหนังสือจะรวบรวมนายแบบเด่นๆมาใส่ไว้ในหนังสือเล่มเดียว และเรียกว่า “รวมนายแบบ” ซึ่งอาจมีนายแบบตั้งแต่ 5 คน ไปจนถึง 10 คน โดยอาจจำหน่ายในราคาประมาณ 500 บาท  แต่ในระยะแรกที่มิถุนานำนายแบบมารวมเล่มในปี พ.ศ.2527 หนังสือมีราคา 120 บาทสำหรับสมาชิก และ 150 บาทสำหรับคนทั่วไป  หนังสือรวมนายแบบนี้เป็นไฮไลท์ของชาวเกย์ที่เป็นนักสะสมรูปเปลือยของผู้ชาย  เพราะภาพรวมนายแบบจะมีภาพที่นายแบบแต่ละคนโชว์อวัยวะเพศ และ/หรือ แสดงอาการหลั่ง และการถึงจุดสุดยอด
ในคอลัมน์เบื้องหลังการถ่ายภาพนายแบบมักจะนำรูปกิจกรรมของนายแบบในอริยาบทต่างๆมานำเสนอพร้อมกับเล่าเรื่องราวของความประทับใจและความสนุกสนานในขณะถ่ายภาพ  มิดเวย์ซึ่งเป็นนิตยสารเกย์สองภาษา คือภาษาไทยและอังกฤษมีคอลัมน์เบื้องหลังและสัมภาษณ์นายแบบ  นายแบบจะเล่าความรู้สึกของตัวเอง เช่นถามว่าถ่ายนู้ดนี่ง่ายเหรอ  นายแบบตอบว่า “ก็ไม่ง่ายทีเดียวนะพี่  ถ่ายหลายชั่วโมงกว่าจะเสร็จ ถ่ายเป็นร้อยๆรูปเลย  ผมเพิ่งรู้ แต่ก็สนุก  ถึงผมไม่รู้จักใคร  ทุกคนก็เป็นกันเอง เหมือนไปปิคนิคกับเพื่อนฝูง  สนุกกว่าถ่ายหนังเยอะเลย…”  บางคนบอกว่า “ทีแรกเลยผมก็เกร็งบ้าง  แต่ช่างภาพก็บอกว่าให้ปล่อยตัวตามสบาย แล้วสอนให้หันโน่น หันนี่”
นายแบบพยายามสร้างความหมายให้กับการถ่ายภาพเปลือยของตัวเอง เช่นอธิบายว่า “ผมคิดว่ามันเป็นศิลปะบนแผ่นฟิล์มเท่านั้น  ความเสียหายคงไม่มีอะไร ในเมื่อเราแสดงออกในทางบริสุทธิ์ ขอให้มองกันเพียงว่านี้คือศิลปะที่ทั่วไปยังมองในความถูกต้อง  ถ้าโป๊-เปลือยแบบลามก อนาจารย์ ผมก็ไม่ทำเด็ดขาด”
ภาพเปลือยของนายแบบมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะในแง่เทคโนโลยีการพิมพ์ การถ่ายภาพ อาร์ตเวิร์ค และคุณภาพของกระดาษ    ปัจจุบันนิตยสารเกย์มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม หลากหลายและดึงดูดให้เกย์ซื้อนำไปชื่นชม  แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในนิตยสารเกย์เหล่านั้นมิใช่ภาพเปลือยของนายแบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องราวของสังคม ธุรกิจ แฟชั่น และวิถีชีวิตของเกย์ในแง่มุมต่างๆ  นิตยสารเกย์ปัจจุบันมิได้วางแผงขายโดยทั่วไป แต่จะใช้ระบบสมาชิกและวางขายในสถานบริการ และสถานบันเทิงสำหรับเกย์   สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือเจ้าของนิตยสารเกย์อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักธุรกิจชาวเกย์เพื่อช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจเหล่านั้น เช่น ซาวน่า ผับ ร้านอาหาร คาราโอเกะ บาร์นวด และอื่นๆ  ทั้งนี้ก็เพื่อให้นิตยสารอยู่รอดและเป็นที่รู้จัก
ชีวิตทางเพศของเกย์ จึงมีนิตยสารเหล่านี้ปรากฏอยู่ในแง่มุมต่างๆ บางคนชื่นชม บางคนหลงใหล และบางคนก็อยากได้แต่ไม่กล้าซื้อ  ความรู้สึกของเกย์ที่จ้องมองภาพเปลือยนายแบบจะเป็นอย่างไร และพวกเขาคิดอะไรอยู่ คือประเด็นที่จะกล่าวต่อไป

เมื่อเกย์มองดูภาพเปลือย

เกย์หลายคนมองภาพนายแบบเปลือยด้วยความรู้สึกพึงพอใจ จากการสอบถามเกย์พบว่า มีคำวิจารณ์ส่วนตัวเมื่อมองเห็นนายแบบ บางคนวิจารณ์รูปร่างหน้าตา อวัยวะเพศ ลักษณะท่าทาง บางคนวิจารณ์มุมกล้อง และการถ่ายภาพ   ต่อไปนี้คือตัวอย่างของความรู้สึกของเกย์ที่มีต่อภาพเปลือย
วิชัย ดูภาพนายแบบวัยรุ่น(เด็กช่างกล)กำลังร่วมรักกัน เขารู้สึกพอใจ เพราะได้เห็นหน้าท้อง เส้นขน และอวัยวะเพศของนายแบบอย่างชัดเจน  ขณะที่ประกิต(นามสมมุติ)คิดว่านายแบบช่างกลดูเถื่อนได้อารมณ์   คมสัน(นามสมมุติ)คิดว่านายแบบหน้าตาและรูปร่างถูกใจ ดูแล้วตัวชา ขนลุก ร้อนวูบวาบ   ส่วนประคอง(นามสมมุติ)ให้ข้อมูลว่าเคยเจอนายแบบคนนี้แล้วและทำงานเป็นพนักงานของบาร์นวดแห่งหนึ่ง แถวๆสีลม และเคยถ่ายภาพนู้ดมาก่อนแล้ว แต่ไม่รู้ว่าปัจจุบันทำงานอยู่ที่เดิมหรือเปล่า  เกย์บางคนวิจารณ์ว่าเคยเห็นนายแบบถูกกะเทยเอาไปเลี้ยง ชอบเที่ยวตามสถานเริงรมย์ของเกย์  นายแบบประเภทนี้จึงไม่ใช่หน้าใหม่ แต่เป็นพวก “ย้อมแมวขาย” 
กิตติ(นามสมมุติ) ดูภาพนายแบบวัยรุ่นแล้วรู้สึกว่าอยากมีอะไรกับนายแบบ เพราะน่ารัก เช่นเดียวกับชาตรี(นามสมมุติ)รู้สึกว่าอยากเข้าไปร่วมกิจกรรมทางเพศกับนายแบบ  บางคนเคยพบนายแบบและบอกว่าตัวจริงมีขนตั้งแต่สะดือลงไป  บางคนชอบนายแบบหน้าหวาน และผิวพรรณสะอาดๆ ออกสาวนิดๆ (หมายถึงอ้อนแอ้น กิริยาเหมือนผู้หญิง)  ธานี(นามสมมุติ)บอกว่าถ้าเห็นนายแบบหน้าหวานๆจะเป็นสเป็กของเขา และอยากมีอะไรกับนายแบบด้วย ธานีใช้คำว่า “กินทั้งตัว”      ส่วนวาริน(นามสมมุติ)ชอบนายแบบที่มีหนวดเคราดูคมเข้ม 
เกย์ส่วนใหญ่ที่ดูภาพเปลือยของนายแบบจะพูดถึงอวัยวะเพศของนายแบบว่าเป็นอย่างไร เช่น บอกว่า “เคสวย” หมายถึงอวัยวะเพศสวย     ธานีดูภาพนายแบบซึ่งเปลือยล่อนจ้อน  เห็นอวัยวะเพศขนาดใหญ่ เขาคิดว่ามันน่ากลัว  คงจะแข็งแต่ก็ชอบมาก  บางคนอาจชอบนายแบบที่มีอวัยวะเพศใหญ่ เขาจะเรียกว่า “โคตรใหญ่” แต่บางคนก็วิจารณ์ว่านายแบบที่หน้าตาหล่อๆหุ่นดีๆนั้นถูกแต่งด้วยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า โฟโต้ช้อป(Photoshop) และ “รีทัช” นายแบบจึงมีผิวขาวหล่อกว่าตัวจริง  เพราะคอมพิวเตอร์สามารถแก้ข้อบกพร่องของนายแบบได้   บางคนก็บอกว่าตอนถ่ายแบบคงใช้แสงไฟช่วยทำให้ออกมาดูหล่อกว่าปกติ  นายแบบที่ถูกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์จะถูกเรียกว่า “มนุษย์พลาสติก”
นายแบบที่หล่อและเชิญชวนให้มีเพสสัมพันธ์ด้วย เกย์จะเรียกว่า “หน้าเอ็กซ์” ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่านายแบบคนนั้นสร้างความกำหนัดให้กับเกย์ที่ดู     ถ้านายแบบหน้าตาดีแต่ไม่เห็นอวัยวะเพศ เกย์ก็อยากให้เจ้าของหนังสือนำนายแบบคนนั้นมาเปลือยให้หมด   แต่บางคนก็ชอบให้ปกปิดบางส่วนไม่ถึงกับโป๊ แบบนี้เรียกว่าไม่โป๊แต่เร้าใจ    นายแบบบางคนมีรูปร่างดีเนื่องจากไปเล่นฟิตเนส  ชาลี(นามสมมุติ)เล่าว่าเขาเคยเจอนายแบบที่ถ่ายเปลือยไปเล่นฟิตเนสในทีเดียวกับเขา  ชาลีบอกว่าตัวจริงรูปร่างไม่ใหญ่และมีอัธยาศัยดี   เกย์บางคนบอกว่าถ้าเห็นภาพนายแบบกำลังร่วมรักกันจะทำให้ “อารมณ์กระเจิง” ซึ่งหมายถึงเกิดความรู้สึกอยากมีเพศสัมพันธ์   ภาพนายแบบร่วมรักอาจทำให้เกย์รู้สึกอยากถูก “ดูด” “อม” หมายถึงการทำออรัลเซ็กซ์  บางคนดูแล้วมีอาการ “แข็ง” ที่อวัยวะเพศ และต้องการปลดปล่อย
ภาพนายแบบที่แสดงท่าทางยั่วยวนอาจทำให้เกย์บางคนดูแล้วเกิดอาการ “เสียว”   นายแบบหน้าตาดีๆอาจกลายเป็นของสะสมของเกย์บางคนที่ชอบสพสมภาพนายแบบหล่อๆ 
แต่บางคนก็ไม่กล้าซื้อหนังสือ เช่น สมบัติ(นามสมมุติ) เห็นนิตยสารเกย์บนแผลหนังสือไม่กล้าซื้อเพราะเจ้าของร้านขายหนังสือเป็นคนรู้จัก

ปริศนาของ “ภาพเปลือย”

ฌอง บูดริยาร์ด (1999) กล่าวว่าการถ่ายภาพคือการเปิดเผยให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า โลกแห่งความนึกฝันที่จับต้องไม่ได้  การถ่ายภาพมีสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง เนื่องจากเลนส์ของกล้องถ่ายภาพทำให้มนุษย์หนีจากโลกแห่งความเป็นจริง การถ่ายภาพนำเราข้ามพรมแดนของ “สิ่งจำลอง” ไปสู่อาณาจักรแห่งความฝัน   บูดริยาร์ด ชี้ว่าภาพถ่ายมีความจริงอยู่เพียงเศษเสี้ยว ทุกอย่างๆในภาพถ่ายหยุดนิ่ง ไม่มีคำพูด ลดทอนปรากฏการณ์ของชีวิตให้สั้นลง ภาพถ่ายจึงเป็นมายาที่ถูกสร้างขึ้น  เทคนิคการถ่ายภาพทำให้ “ภาพฝัน” ขยายขอบเขตออกไปไม่รู้จบ  กล้องถ่ายภาพจึงทำให้เราใช้โลกทางวัตถุเป็นเครื่องมือที่จะหลอกตัวเอง
ความคิดของบูดริยาร์ด ทำให้เกิดการทบทวนสิ่งที่เราเคยเชื่อด้วยสายตาของเราเองว่า “ภาพถ่าย” คือภาพที่สะท้อนความจริงแท้ แต่ในทางกลับกันภาพถ่ายมิได้ทำสิ่งนั้นเลย แต่มันทำให้ความจริงถูกเชื่อว่าเป็น “ความจริง” มากขึ้นไป   บูดริยาร์ดกล่าวว่าความคิดเบื้องหลังการถ่ายภาพก็คือการยับยั้งเสียงและคำพูด มีเพียงความเงียบที่เกิดขึ้น  สิ่งที่ถูกยับยั้งจะถูกแทนที่ด้วยภาพมายา  ดังนั้นโลกทางวัตถุมิได้ถูกลบไปเพียงชั่วขณะที่มีการถ่ายภาพ แต่มันจะถูกลบไปตลอดกาล  ภาพถ่ายจึงมิใช่ภาพตัวแทนของโลกวัตถุแต่เป็นภาพหลอกๆของสิ่งที่เป็นวัตถุซึ่งถูกทิ้งไว้เป็นอดีต 
สิ่งที่น่าพรั่นพรึงก็คือ ภาพถ่ายคือตัวแทนของช่วงเวลาที่คลุมเคลือ ซึ่งมนุษย์กำลังทะทิ้งความดีงาม  บูดริยาร์ดอธิบายว่าภาพแห่งความฝันคือสภาวะที่ยังมาไม่ถึง (moment of becoming) ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลาที่ยุ่งยากและสับสนในระเบียบต่างๆ ภาพถ่ายจึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความสับสนในใจมนุษย์  แต่มนุษย์กลับใช้ภาพถ่ายเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เพราะมันคือความหมายทางรูปธรรมที่ชัดเจนกว่าจิตใจ   บูดริยาร์ดกล่าวว่าถ้าเราต้องการเอาชนะความหมายที่ถูกสร้างขึ้น เราก็ต้องเข้าใจ “ด้านลบ” ของภาพถ่าย  ซึ่งได้แก่อุปมาอุปมัยทางภาษาที่ปรากฏอยู่ในวัตถุที่ภาพนั้นจำลองขึ้นมา   อุปมาคือเวทมนต์ที่กำจัดโลกทางวัตถุให้หายไป   อุปมาทำให้มนุษย์มั่นใจในความจริง และไม่สนใจว่ามันจะมาทดแทนความ”ว่างเปล่า”ใดๆ   ในที่นี้การอุปมาอุปมัยทางภาษาก็คือ การทำให้ความไม่มีอะไรเลยเป็นความจริง
รูปธรรมที่สร้างมาจากความไม่มีอะไรเลย จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ บูดริยาร์ดอธิบายว่า มนุษย์พยายามสร้างรูปธรรมนี้ให้สำเร็จ  ภาพถ่ายที่ถูกสร้างขึ้นคือตัวอย่างของความพยายามนี้  วัตถุในภาพถ่ายจึงมีเสียงพูดเชิงอุปมาอุปมัย ซึ่งมิใช่เสียงของวัตถุที่ภาพนั้นจำลองมันขึ้นมา “เสียงพูด”ในภาพถ่าย จึงมิใช่ “เสียง” ของวัตถุ  หากแต่เป็นจินตนาการทางความคิดที่มนุษย์พูดขึ้นมาแทน  วัตถุที่ถูกถ่ายจะเป็นสิ่งที่ถูกมองด้วยความสุนทรีย์ 

 

 บูดริยาร์ดกล่าวว่าการถ่ายภาพไม่ใช่การตรวจสอบหรือวิเคราะห์ว่าอะไรคือความจริง แต่มันคือการสร้าง “ภาษา” ให้ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายของวัตถุ เพื่อที่จะสร้างภาพมายาให้เป็น “ความไม่มีตัวตน” ที่แน่นอน ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาพถ่าย คือการยืนยันในความไม่มีตัวตน และไม่มีความจริงแท้

ความไม่มีตัวตนจะไม่ถูกเปิดเผยในภาพถ่าย เพราะภาพที่ปรากฏจะเปิดเผยแต่เพียงแสงเงา         ซึ่งบูดริยาร์ดเรียกว่า “แสงแห่งจินตนาการของภาพมายา” ที่เกิดจากสายตามนุษย์ที่มองผ่านเลนส์ กับแสงที่ส่องกระทบวัตถุ  ตาของเราได้ร่วมมือกับแสงตกกระทบเพื่อทำให้เกิดภาพมายา  ซึ่งคล้ายๆกับความพยายามที่จะพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่  ประเด็นนี้ บูดริยาร์ดอธิบายว่ามนุษย์พยายามหาข้ออ้างมาพิสูจน์ในสิ่งที่ตนเองเชื่อ เช่นเดียวกับการถ่ายภาพที่มนุษย์พยายามสร้างภาพให้ออกมาตามที่ตนเองต้องการ โดยการใช้เทคนิคทางภาพถ่าย เช่นการจัดแสง การใช้มุมกล้อง และอุปกรณ์ต่างๆ    การสร้างความรู้ของมนุษย์ก็ทำในลักษณะเดียวกันนี้ ความจริงในโลกทางวัตถุล้วนสร้างขึ้นมาจากภาพมายา ซึ่งเป็นวิธีการหลีกหนีความจริงมากกว่าที่จะเป็นการเผชิญหน้าในสิ่งต่างๆ
สิ่งที่น่าคิดสำหรับบูดริยาร์ด ก็คือ การถ่ายภาพมีลักษณะเป็นการเขียนบทละคร ละครของการถ่ายภาพเป็นหนทางของมนุษย์ที่จะยึดเหนี่ยวโลกนี้ไว้ด้วยการ “แสดง”  ภาพถ่ายเป็นการแสดงที่เล่าเรื่องราวอย่างทันทีทันใดด้วยกระบวนการของแสงเงา เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น เมื่อมนุษย์มองผ่านเลนส์ นั่นหมายถึงโลกจะถูกมองในบทต่างๆ กล่าวคือ โลกกำลัง “แสดง” บางสิ่งบางอย่างตามเรื่องแต่งที่มนุษย์ขีดเขียนขึ้น  การถ่ายภาพจึงนำพาโลกไปสู่การแสดงละคร หรือเป็นการแสดงเพื่อบ่งบอกว่ายังมี “โลก” ใบนี้อยู่ แต่โลกที่มีอยู่ก็คือเรื่องแต่งของการถ่ายภาพ    ประเด็นนี้ บูดริยาร์ดกล่าวว่า
มนุษย์ที่เป็นตากล้องไม่ได้มองเห็น “คนอื่น” หรือสิ่งอื่นผ่านเลนส์เหล่านี้


              หากแต่พวกเขาได้สร้างความเป็นอื่นให้เกิดขึ้น ในขณะที่ตัวตนของสิ่งเหล่านั้น
              ถูกทำให้หายไป  ด้วยเหตุผลนี้เราจึงไม่เคยมีวิธีการใดๆที่จะชี้ว่าโลกวัตถุนั้น
              มีอยู่จริง  ระหว่างสิ่งที่เป็น “ความจริง” กับ “ความฝัน” ซึ่งปรากฏในภาพถ่าย
              ไม่สามารถจะทดแทนกันได้ วิธีที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ก็คือ
              มองหาความเกี่ยวข้องเชิงรูปธรรมระหว่างความจริงและความฝัน

การถ่ายภาพจึงอาจเป็นวิธีการถามหาว่ามีความจริงบริสุทธิ์ในโลกนี้หรือเปล่า แต่มนุษย์ทำได้แต่สร้างสิ่งอื่นขึ้นมาแทนความจริงบริสุทธิ์นั้น  การถ่ายเทไปมาระหว่างโลกทางวัตถุกับสายตาของตากล้องนั้นลุ่มๆดอนๆ ไม่มีความสมบูรณ์ ตาของเราและวัตถุที่เรามองจึงทำลายซึ่งกันและกัน  บูดริยาร์ดเรียกการสนองตอบกันและกันนี้ว่าเป็นการแก้ปัญหาของมนุษย์ที่จะสื่อสารกับคนอื่น แต่คำตอบของปัญหาอาจทำให้พบว่า มนุษย์และวัตถุไม่มีคุณค่าและความหมายต่อกันเลย การถ่ายภาพจึงเป็นการแสดงอาการกระวนกระวายใจของมนุษย์ซึ่งเราพยายามเรียกร้องด้วยการบังคับให้วัตถุต้องมีคุณค่าและความหมายต่อเรามากขึ้น
บูดริยาร์ดกล่าวว่ามนุษย์ต่างคร่ำครวญถึงการจากไปของ “ความจริง” ภายใต้การสร้างภาพมายาจำนวนมาก แต่มนุษย์กลับลืมไปว่าภาพมายาเหล่านั้นก็ไม่มีจริงเช่นเดียวกัน  ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นคือการบูชายัญ  ภาพมายาก็เป็นสิ่งที่นำมาบูชายัญความจริงเหล่านั้น  ความจริงในแง่นี้จึงมิใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่มันมีอยู่เพื่อบ่งบอกว่าความจริงควรจะเป็นอย่างไร  ภาพถ่ายที่แสดงเรื่องราวต่างๆจึงเป็นการบอกให้รู้ว่าการแสดงนั้นมีความหมายต่อมนุษย์อย่างไร บูดริยาร์ดได้ยกตัวอย่างภาพถ่ายของคนที่ทุกข์ทรมาน เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าความทุกข์ทรมานของมนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร    ความจริงในความคิดของบูดริยาร์ดไม่ควรจะมาจากทัศนคติแบบศีลธรรม หรือมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว
มายาในภาพถ่ายควรเป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธและมนุษย์ต้องมองเห็น เพื่อที่จะเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นกับความจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่   สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในภาพถ่ายก็คือภาพสะท้อนของตัวเราและความคิดที่เรามี         บูดริยาร์ดเรียกสิ่งนี้ว่า ปีศาจของความจริง (reality’s evil)  เพราะภายในตัวเรามีความพยายามที่จะทำให้โลกทางวัตถุเป็นไปอย่างที่เราต้องการ  ภาพถ่ายอาจเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เดินเข้าไปใกล้สิ่งที่เรียกว่า “โลกที่แท้จริง” ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลตัวเรา  ภาพถ่ายจึงกักเก็บ “โลก” นี้ไว้ให้อยู่ห่างจากการมีอยู่ของวัตถุซึ่งเราไม่ต้องการจะมองดู
เมื่อหันกลับมาพิจารณาภาพเปลือยของนายแบบในนิตยสารเกย์จะพบว่า ภาพเปลือยเป็นมายาและมิใช่ความจริงในลักษณะเดียวกับที่บูดริยาร์ดอธิบายไว้     อย่างไรก็ตามก่อนจะวิเคราะห์ในประเด็นนี้ ควรทำความเข้าใจเรื่องความหมายและจุดประสงค์ของภาพเปลือยสำหรับเกย์ว่าคืออะไรและเป็นอย่างไร
ภาพเปลือยนายแบบถูกสร้างขึ้นมาจากตากล้อง ซึ่งมีแนวคิดจินตนาการอยู่ก่อนแล้วว่าจะถ่ายนายแบบให้ออกมาเซ็กซี่ หรือเย้ายวนได้อย่างไร  จะใช้แสง มุมกล้อง และตกแต่งนายแบบอย่างไรเพื่อให้ออกมาดูดีที่สุด  ดังนั้นการถ่ายภาพเปลือยนายแบบจึงมีผู้สมรู้ร่วมคิดกระทำภาพมายาหลายคน ได้แก่ ตากล้อง ช่างแต่งหน้า ช่างไฟ ผู้ช่วยออกแบบท่าทาง และคนที่ทำให้อวัยวะเพศของนายแบบแข็งตัว รวมถึงนักแต่งรูปด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งมีบทบาทมากในปัจจุบัน   บุคคลเหล่านี้คือผู้ที่สร้างภาพมายาในภาพถ่าย   เรื่องราวที่ถูกสร้างบนร่างกายของนายแบบก็คือเรื่องราวที่ถูกแต่งขึ้นด้วย “ภาษา”ของทีมงาน ซึ่งมีตากล้องเป็นผู้มองนายแบบผ่านเลนส์  ภาพนายแบบจะไม่มีคำพูดแต่มีจินตนาการของทีมงานปรากฏอยู่
ละครของภาพเปลือยนายแบบ บอกเรื่องราวทางเพศของเกย์ซึ่งประกอบด้วย ลักษณะความเป็นชาย ความเซ็กซี่ ยั่วยวน ความหล่อ ความน่ารัก การมีรูปร่างงดงาม  การแสดงท่าร่วมรักที่เร้าร้อน การแข็งตัวของอวัยวะเพศ การลูบไล้สัมผัส การกอดจูบ การสอดใส่อวัยวะเพศ การทำออรัลเซ็กซ์  การสำเร็จความใคร่ และการถึงจุดสุดยอด  สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกจัดฉากและถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของ “ความจริง” เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์และความใคร่ของเกย์    ประเด็นนี้เป็นเรื่องหล่อแหลมและเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อระบบศีลธรรมของสังคม
เท่าที่ผ่านมาสังคมของเกย์มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่จะสร้างภาพมายาในเรื่องกามารมณ์ให้กับเกย์  นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา  ภาพนายแบบที่เปิดเผยร่างกายและอวัยวะเพศ ที่แสดงท่าทางต่างๆนานาล้วนมิได้เกิดขึ้นอย่างที่เป็นตามธรรมชาติ  ลักษณะร่างกายของผู้ชาย และท่าทางการร่วมรัก หรือการถึงจุดสุดยอดของนายแบบดูคล้ายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ถ้านำความคิดของบูดริยาร์ดมาวิเคราะห์จะพบว่า ท่าทางเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น  ถึงแม้ว่าตัวนายแบบจะมีจริง มีเลือดเนื้อและลมหายใจ เป็นมนุษย์คนหนึ่ง  แต่ภาพของนายแบบที่ถูกถ่ายออกมาเพื่อแสดงบทบาทความใคร่และการร่วมรักนั้นเป็นมายาและจินตนาการของคนบางกลุ่ม
คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น นอกเหนือจากภาพที่ปรากฏแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ “ความจริง” เกี่ยวกับเรื่องเพศของเกย์กำลังถูกเปิดเผย แต่มันไม่เคยมีอยู่และไม่มีจริง   สิ่งที่ถูกสร้างก็คือเรื่องกามารมณ์ซึ่งมีเสียงพูดที่ว่า “เร้าใจ” “หวาบหวิว” “เสียว” “เซ็กซ์” “เงี่ยน” “งุ่นง่าน” “อารมณ์กระเจิง” “กะสันต์” “ซาบซ่าน” และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ต่างไปจากโลกทางวัตถุที่พบในชีวิตประจำวัน   หากพิจารณาร่างกายของมนุษย์จะพบว่ามีข้อบกพร่องมากมาย เช่น มีแผลเป็น มีริ้วรอย มีสิว มีจุดด่างดำ หรือหยาบกร้าน แต่การถ่ายภาพสามารถทำให้สิ่งเหล่านี้หายไปได้ เหลือไว้แต่เพียงร่างกายที่สวยงามโดยเทคนิคของแสงเงา   เช่นเดียวกับการร่วมรัก  โดยธรรมชาติมนุษย์ร่วมรักกันโดยไม่คำนึงถึงความสวยงามของท่าทาง หรือฉาก  แต่การถ่ายภาพร่วมรักจะถูกตกแต่งท่าทาง  ตากล้องจะบอกให้นายแบบแสดงสีหน้า และจัดท่าทางตามที่จินตนาการเรื่องเซ็กซ์ควรจะเป็น    ภาพถ่ายนายแบบจึงมิใช่ “ความจริง” ที่สะท้อนกามารมณ์ของเกย์ แต่เป็นภาพมายาของกามารมณ์ที่เกย์เชื่อว่ามันคือความจริง
เมื่อเกย์เชื่อว่าเซ็กซ์ต้องเสียว หรือ เร้าใจ  เกย์ก็จะนิยามตัวตนทางเพศของตนว่าอาจจะเป็นเช่นนั้นด้วย ยกตัวอย่างภาพร่วมรักของนายแบบที่ถูกช่างแต่งหน้ากลบเกลือนจนดูหล่อเหลา ทรงผมเรียบได้ทรง ถึงแม้ว่าจะอยู่ในท่าที่ตีลังกา หรือก้มศรีษะ  หน้าตาท่าทางของนายแบบที่หล่อสวยงามนี้ทำให้ภาพถ่ายที่ออกมาเป็นความเซ็กซ์ซี่  ในทางกลับกัน ถ้าตากล้องถ่ายนายแบบกำลังร่วมรักโดยมิได้เข้าไปตกแต่งท่าทางหรือเมคอัพนายแบบ ภาพที่ถ่ายออกมาก็อาจมีอีกความหมายหนึ่ง เช่น อาจเป็นความป่าเถื่อน ดิบ รุนแรง หรืออะไรในทำนองนี้   ฉะนั้นภาพถ่ายการร่วมรักจึงมิได้บ่งบอกความจริงใดๆเกี่ยวกับชีวิตทางเพศและกามารมณ์ของเกย์เลย
สิ่งที่เป็นได้ก็เพียงจินตนาการของตากล้อง ซึ่งต้องการให้นายแบบออกมาดูเซ็กซี่และเร้าใจ เช่น การถ่ายภาพระยะใกล้ของอวัยวะเพศ การถ่ายภาพที่นายแบบกำลังหลั่งซึ่ง มองเห็นน้ำอสุจิลอยค้างอยู่ในอากาศ ภาพประเภทนี้สร้างอารมณ์ได้ดีสำหรับเกย์ที่ต้องการเห็นนายแบบอยู่ในอาการหลั่ง  ภาพประเภทนี้มิอาจเกิดขึ้นได้จริงในชีวิต  เพราะการหลั่งตามธรรมชาติ น้ำอสุจิจะไม่ค้างอยู่ในอากาศแต่จะหล่นลงบนร่างกายหรือพื้น  แต่ภาพถ่ายทำให้การหลั่งหยุดนิ่ง และกลายเป็นภาพมายาของการถึงจุดสุดยอด ภาพนี้จะคงอยู่เช่นนี้ต่อไปและทำให้เกย์เชื่อว่าการหลั่งคือการสังเวยอารมณ์ความใคร่ และความสมบูรณ์แบบในการร่วมรัก
คำถามก็คือ อะไรคือความสมบูรณ์ในเรื่องเซ็กซ์สำหรับเกย์   การมองดูภาพเปลือยนายแบบเพื่อสำเร็จความใคร่ของตนเองจะเป็นความสมบูรณ์ได้หรือไม่   การได้ร่วมรักกับชายหนุ่มที่หล่อเหลาเหมือนนายแบบจะเป็นความสมบูรณ์ได้หรือไม่   การได้ร่วมรักทางทวารหนัก หรือการทำออรัลเซ็กซ์จะเป็นความสมบูรณ์หรือไม่  การได้ร่วมรักในสถานที่ที่สวยงามอย่างชายทะเล หรือริมน้ำตกจะเป็นความสมบูรณ์หรือไม่   การได้อมอวัยวะเพศขนาดใหญ่จะเป็นความสมบูรณ์หรือไม่ คำตอบของสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในนิตยสารและภาพถ่ายนายแบบ   กล่าวคือ นิตยสารพยายามสร้างความสมบูรณ์แบบของกามารมณ์ให้กับเกย์ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การใช้นายแบบที่มีรูปร่างหน้าดี มีอวัยวะเพศขนาดใหญ่ และการใช้สถานที่ที่สวยงามเป็นฉาก
ความสมบูรณ์ในชีวิตทางเพศของเกย์จึงเป็น “สาระ” ที่ถูกสร้างขึ้นในนิตยสารเกย์  แต่ปัญหาก็คือความสมบูรณ์นี้นิยามมาจากคนบางกลุ่ม   ความสมบูรณ์แบบในการร่วมรัก การได้คู่ครองที่หล่อเหลา และการได้ระบายอารมณ์ทางเพศกับคนที่พอใจ คือวิกฤตและความคัดแย้งของเกย์ในปัจจุบัน   อาจพบว่าชีวิตทางเพศของเกย์ไม่อาจเข้าถึงความสมบูรณ์เหล่านี้ได้ทุกคน      เกย์แต่ละคนจะพบข้อบกพร่องทางเพศของตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น อ้วนเกินไป หรือผอมเกินไปจนไม่อยากมีใครร่วมรักด้วย  หน้าตาน่าเกลียดจนไม่มีใครสนใจ อวัยวะเพศมีขนาดเล็กเกินไป ใหญ่เกินไป หรือบิดเบี้ยวไม่ได้รูปทรง ซึ่งทำให้ไม่มีใครต้องการ  ปัญหาความบกพร่องในเชิงร่างกายนี้คือสิ่งที่ถูกซ่อนเร้นไว้ในภาพถ่าย   ภาพถ่ายนายแบบได้เผยให้เห็นด้านบวกของกามารมณ์แต่ละทิ้งและปกปิดด้านลบของมัน
ภาพถ่ายนายแบบจึงเป็นการปฏิเสธความล้มเหลวของสรีระร่างกายและการจับคู่ทางเพศที่ไม่เหมาะสม   จะพบว่านายแบบที่ปรากฏในนิตยสารไม่มีใครที่น่าเกลียดจนทำให้ผู้ดูรู้สึกขยะแขยง    เจ้าของนิตยสารต้องสร้างภาพนายแบบที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและอุดมคติ   การร่วมรักและสำเร็จความใคร่ของเกย์ในนิตยสารต้องนำเสนอรูปแบบเชิงอุดมคติของเกย์ และได้สร้าง “โลก” ความฝันให้เกย์เก็บไปจินตนาการ   โลกแห่งกามารมณ์ในนิตยสารเกย์จึงมีเฉพาะคนหล่อ รูปร่างดี และมีเสน่ห์เท่านั้น

ความฝันทางเพศ และความสับสนในชีวิตจริง

บทความเรื่องนี้ต้องการสำรวจตรวจสอบชีวิตทางเพศของเกย์ในสังคมไทยปัจจุบัน โดยใช้ภาพเปลือยของนายแบบเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ     สิ่งที่บทความเรื่องต้องการจะบอกก็คือ ภาพเปลือยของนายแบบกำลังปกปิด “ความล้มเหลว” ชีวิตทางเพศของเกย์ ซึ่งมันจะไม่ถูกแสดงออกมาในแง่ของภาพเซ็กซี่ หรือหวาบหวิว    แต่มันจะถูกอุปมาอุปไมยกับภาพมายาเชิงบวกของสรีระและอวัยวะของนายแบบ    การเปิดเผยสัดส่วนของนายแบบที่มีรูปร่างดี หล่อ หรือน่ารักก็เท่ากับเป็นการบอกว่า ร่างกายที่อ้วน ผอมแห้ง คือความน่าเกลียดซึ่งไม่มีใครต้องการ
ถ้าเรื่องเพศของเกย์เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสับสนว่าจะทำอย่างไรกับร่างกายของตนเอง จะหาคู่ที่หล่อเหลา รูปร่างดี สมส่วนได้อย่างไร จะค้นพบคนที่มีอวัยวะเพศสวยงามได้อย่างไร และจะร่วมรักในท่าไหนที่เหมาะกับตนเอง   จะทำอย่างไรถึงจะถึงจุดสุดยอดได้โดยคู่ขาพอใจ    ถ้าคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นกับเกย์ก็เท่ากับว่าเรื่องเพศของเกย์ไม่เคยสมบูรณ์แบบเลย   ในชีวิตจริงซึ่งเป็นโลกทางวัตถุ เรื่องเพศและกามารมณ์เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่อยากมีใครเปิดเผยว่าของตนเป็นอย่างไร
จากการสอบถามเกย์บางคนพบว่า เมื่อเขาต้องการจะร่วมรักกับใครสักคนหนึ่งโดยที่ไม่รู้จักมาก่อน เขาไม่แน่ใจว่าลีลาร่วมรักของคนๆนั้นจะเป็นอย่างไร  บางคนกล่าวว่าคนที่ร่วมรักด้วยลีลาจืดชืด ไม่เร้าใจ บางคนบอกว่ารุนแรงเกินไป  บางคนอยากให้ทำออรัลเซ็กซ์ แต่บางคนไม่ชอบทำ   บางคนชอบสอดใส่ทวารหนัก แต่บางคนไม่ชอบเพราะเจ็บ   ในบางกรณีการร่วมรักก็ไม่นำไปถึงจุดสุดยอด อาจมีเพียงฝ่ายเดียวที่ไปถึงแต่อีกฝ่ายอาจเป็นผู้ช่วยให้การสำเร็จความใคร่ลุล่วงลงไปได้    บางคนชอบไซร้หน้าอก ใบหู และทวารหนัก แต่บางคนรู้สึกจักจี้  บางคนชอบเลียก้นและนิ้วเท้าแต่บางคนไม่ชอบเพราะรู้สึกขยะแขยง 
ลีลาท่าทางการร่วมรัก และรสนิยมความต้องการทางเพศของเกย์แต่ละคนจึงลุ่มๆดอนๆ ขาดๆเกินๆ  ไม่อาจเรียกว่าตื่นเต้นเร้าใจ เสียว กะสันต์ได้อย่างสมบูรณ์เหมือนกับมองดูภาพเปลือยของนายแบบ   การร่วมรักหรือสำเร็จความใคร่มีข้อบกพร่องในตัวเอง และอาจเกินปัญหาได้เสมอ เช่น บางคนรู้สึกไม่สบายใจถ้าไม่ใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งอาจทำให้หมดอารมณ์ไปได้ถึงแม้ว่าคู่ขาจะหล่อเพียงใดก็ตาม  บางคนอาจพบว่าตนเองหลั่งเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป อาจทำให้คู่ขาเบื่อที่จะเล้าโลม บางคนอาจมีปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ซึ่งอาจทำให้การร่วมรักเป็นการฝืนใจทำ   บางคนรู้สึกปวดท้องเวลาที่ถูกสอดใส่เข้าทวารหนักและทำให้หมดอารมณ์ทางเพศได้  ปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอกับการร่วมรัก  แต่เราจะไม่พบปัญหาเหล่านี้ในภาพถ่าย
คำถามก็คือ แล้วการดูภาพเปลือยนายแบบจะช่วยขจัดปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่  คำตอบก็คือ อาจช่วยได้บ้าง แต่สิ่งที่ตามาก็คือ ภาพมายาแห่งความฝันจะเกิดขึ้นกับเกย์ที่ดูภาพนั้น  ภาพมายาสร้าง “ความจริง” ที่น่าเจ็บปวด กล่าวคือ เมื่อเกย์มองดูนายแบบที่หล่อ น่ารัก และรูปร่างดี  เกย์ก็จะเชื่อว่ากามารมณ์ต้องดีเหมือนกับนายแบบด้วย  เมื่อเกย์คนนั้นไปมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ตาม ถึงแม้ว่าคนๆนั้นจะไม่ดีเท่านายแบบ แต่ภาพมายาก็ยังติดตามไป  ทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าคู่ขาของตนดีกว่าหรือด้อยกว่านายแบบ นั่นหมายถึง กามารมณ์ของเกย์จะถูกให้คุณค่าสูงต่ำตามลักษณะทางกายภาพ   เกย์อาจเลือกคู่ขาตามที่ตนเองอยากได้ แต่ขณะเดียวกันก็พยายามมองหาข้อบกพร่องของคู่ขาในด้านสรีระ ถ้าพบข้อบกพร่องก็จะทำให้มีผลต่อความสัมพันธ์ และอาจทำลายชีวิตทางเพศของเกย์คนนั้น
ปัญหาและข้อบกพร่องทางสรีระ ไม่เคยเป็นสิ่งที่สวยงามในสายตาของเกย์  ดังนั้น ยิ่งมีภาพนายแบบเป็นมาตรฐานทางเพศและกามารมณ์มากเท่าใด  สรีระร่างกายก็ยิ่งเป็นเป้าหมายของตัวแทนทางเพศของเกย์มากขึ้นเท่านั้น   การที่นิตยสารเกย์สรรหานายแบบที่หล่อน่ารักและหุ่นดีมาเผยแพร่ก็ยิ่งทำให้ร่างกายที่ไม่สมประกอบถูกปฏิเสธมากขึ้นเท่านั้น    และเมื่อร่างกายถูกปฏิเสธมากเท่าใด เกย์ก็ยิ่งเจ็บปวดกับความสับสนทางกามารมณ์มากยิ่งขึ้น 
บูดริยาร์ดกล่าวว่าเราต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกปฏิเสธ เพราะภาพถ่ายคือมายาที่ปกปิดสิ่งนั้น   ทุกวันนี้เกย์มองดูภาพเปลือยนายแบบ เกย์นึกถึงสิ่งใดบ้าง    เกย์ย้อนกลับมามองดูรูปร่างหน้าตาของตัวเองเพื่อที่จะบอกว่าตนหล่อหรือน่าเกลียดหรือไม่  เกย์กลับมาทบทวนความสัมพันธ์ทางเพศที่มีต่อคนรัก หรือคู่ขาเพื่อที่จะหาข้อบกพร่องทางเพศของอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่  เกย์หันกลับมาชื่นชมคนที่หล่อ และถอยห่างจากคนที่ขี้เหร่เพื่อที่จะไม่ให้ตนเองเป็นพวกฝ่ายซ้ายหรือไม่  เกย์สะสมรูปภาพนายแบบเพื่อที่จะใช้จินตนาการในการสำเร็จความใคร่แบบลับๆใช่หรือไม่  เกย์สร้างสังคมเพื่อนฝูงเพื่อที่จะหยอกล้อเสียดสีผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาตลกๆและน่าเกลียดใช่หรือไม่       ถ้าเกย์มองดูตัวเองด้วยทัศนคติเหล่านี้ก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าภาพเปลือยนายแบบกำลังประสบชัยชนะ  เพราะมันกำลังทำให้เกย์หวาดกลัวการมองดูรูปร่างหน้าตาของตัวเอง
สิ่งที่น่าสะเทือนใจก็คือ นายแบบที่หล่อน่ารักปรากฏขึ้นพร้อมๆกับการหายไปทีละน้อยของ “ความจริง” เกี่ยวกับร่างกายที่ดูน่าเกลียด และความขัดแย้งในชีวิตทางเพศของเกย์     ดั่งที่บูดริยาร์ดกล่าวว่าเราเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีทำให้ความจริงทั้งหลายสูญหายไป แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ “ความจริง” กำลังสิ้นสลายไปทีละน้อยโดยมีเทคโนโลยีเป็นพยานเฝ้ามองอยู่     ภาพนายแบบก็คล้ายกับพยานที่มองดูชีวิตของเกย์ ซึ่งกำลังทำลายตัวเองด้วยการสร้างภาพมายาแห่งกามารมณ์     ในที่นี้ภาพเปลือยของนายแบบมิใช่พยานของการมีอยู่ของความสมบูรณ์ในรสกาม  แต่มันเป็นพยานว่า มีภาพมายาอีกแบบหนึ่งได้ถูกปฏิเสธไป นั่นคือ ความบกพร่องในชีวิตทางเพศ ซึ่งตรวจวัดด้วยคุณค่าทางสรีระเพียงอย่างเดียว

บรรณานุกรม

หนังสือภาษาอังกฤษ
Baudrillard, Jean
1999. “Photography, or the writing of Light” in www.ctheory.com
Holmberg, Carl B.
1998. Sexualities and Popular Culture. London, Sage Publication.
Jackson, Peter
1995. Dear Uncle Go Male Homosexuality in Thailand. Bangkok, Bua Luang.
McNair, Brian.
1996. Mediated Sex : Pornography & Postmodern Culture. New York, St.Martin’s Press.
Sontag, Susan.
1967.”The Pornographic Imagination", reproduced in Georges Bataille(1982), The Story of the Eye, London, Penguin. Pp. 83-118.
Stoltenberg, John
1990. “Gays and the Pornography Movement” in Men Confront Pornography edited by Michael Kimmel, New York,Crown, pp. 248-262.
1992 “Pornography, Homophobia and Male Supremacy” in Catherine Itzin ed. Pornography: Women, Violence and Civil Liberties, Oxford: Oxford University Press, pp. 245-274.
Thomas, Joe A.
2000 “Gay Male Video Pornography : Past, Present and Future.” In Ronald Weitzer (ed.) Sex for Sale : Prostitution, Pornography, and the Sex Industry. New York, Routledge.


นิตยสาร

นีออน ฉบับที่ 19 พ.ศ.2529
มรกต ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2528
มายเวย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2530
มายเวย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2532
มายเวย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2532
มิดเวย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2529
มิดเวย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2529
มิถุนา เดือนมีนาคม 2527
มิถุนา เดือนกุมภาพันธ์ 2530

 

Add comment

By submitting this form, you accept the Mollom privacy policy.

Discover Gay Thailand on Pinktrails.com