HOTLINE: +66 (0)2 618 516 8

ในแดนสวรรค์ของเพศที่สาม

 “เพศที่สาม” หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพบและรู้จัก “เพศที่สาม” มาบ้างและดูเหมือนว่าพวกเขาก็มีความสุขดีภายใต้อ้อมกอดของดินแดนสยามแห่งนี้ โดยส่วนมาก ผมจะทราบว่า “เพศที่สาม” ได้รับโอกาสที่ได้แสดงความสามารถและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในพื้นที่เฉพาะที่สังคมไทยจัดให้อย่างเช่น วงการบันเทิง วงการความสวยความงาม และวงการการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันสื่อภาพยนตร์ ละคร โฆษณาจำนวนมากได้มีการนำเสนอตัวละครที่เป็นตัวแทนของ “เพศที่สาม” มากขึ้น สื่อที่มีเนื้อหาสะท้อนชีวิตของคนกลุ่มนี้ก็มีให้พบเห็นมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้นเมื่อกล่าวถึงคำว่า “กะเทย” คนไทยหลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตลักษณ์ทางเพศนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งคนไทยจำนวนหนึ่งให้ความเอ็นดูและชมเชย แม้แต่ในสายตาชาวต่างชาติเองกะเทยไทยก็ขึ้นชื่อว่า “ไม่แพ้ชาติใดในโลก” แล้วเช่นนี้จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าประเทศไทยรักและเข้าใจเพศที่สาม

ข้อสังเกตสำคัญที่มีต่อทัศนคติแง่ลบต่อ “เพศที่สาม” ในสังคมไทยนั้นผมเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ ค่านิยมความเป็นชายนั้นได้สร้างกฎเกณฑ์ที่แบ่งประชากรออกเป็นสองกลุ่มคือ “ชาย” และ “หญิง” โดยใช้อวัยวะเพศที่ติดตัวมาแต่เกิดในการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของคนแต่ละคน และค่านิยมชุดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการต่อต้านอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆที่อยู่นอกกรอบการมองโลกแบบ “ชาย-หญิง”  ซึ่งผมเชื่อว่าค่านิยมชายเป็นใหญ่นั้นมีความสอดคล้องกับค่านิยมในสังคมพุทธแบบไทยๆ ที่วางผู้หญิงให้อยู่ในสถานภาพที่ต่ำกว่าผู้ชายและมีทัศนคติในแง่ลบต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศ

  คนในสังคมพุทธเชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้ที่ถูกคัดสรรมาเพื่อสานต่อศาสนาให้แก่คนรุ่นหลังในขณะที่ผู้หญิงถูกเชื่อว่าไม่มีความสามารถในการบรรลุธรรมเยี่ยงชาย และบางครั้งถือเป็นเครื่องกีดขวางให้ผู้ชายอยู่ห่างไกลจากทางพ้นทุกข์อีกด้วย  นอกจากนั้นค่านิยม “กีดกันเพศหญิง” สามารถสะท้อนออกมาผ่านการไม่ยอมรับให้บัณเฑาะว์และอุภโตพยัญชนกบวช ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของ “เพศชายที่ไม่สมบูรณ์” จากตัวอย่างข้างต้นจะพบว่าคำเปรียบเทียบต่อการขาดความสามารถในการควบคุมความต้องการทางเพศถูกเปรียบเทียบกับ “เพศหญิง” (โสเภณีและสุวรรณมาลี) แทนที่จะเปรียบความต้องการทางเพศนั้นกับคุณสมบัติของเพศชาย

เมื่อเรามองไปที่วัตถุประสงค์ของพุทธศาสนาแล้ว เราจะพบว่าการแบ่งมนุษย์ออกเป็นกลุ่มๆ นั้นไม่ได้สอดคล้องกับมุมมองแบบพุทธแต่อย่างใด  พุทธศาสนานั้นมองไปไกลกว่าการจำกัดตัวเองภายใต้กรอบของการแบ่งขั้วออกเป็นชายหรือหญิง เพศที่หนึ่ง สอง หรือ สาม เพราะในธรรมชาติ “สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนไม่มีชาย ไม่มีหญิง”  ทุกอย่างล้วนเป็นการเกิดดับของรูปธรรม (ร่างกาย) และนามธรรม (การให้คุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อจิตของมนุษย์) ที่ไม่สิ้นสุดดังนั้น เครื่องกีดขวางไม่ให้บุรุษเพศเข้าสู่ทางแห่งธรรมอาจไม่ใช่ปัจจัยภายนอก อย่างเสน่ห์อันยั่วยวนของสตรีเพศหรือการชักจูงที่ผิดของบัณเฑาะว์หรืออุภโตพยัญชนก สาเหตุที่แท้จริงอาจอยู่ภายในจิตใจของผู้ชายเองที่หลงอยู่กับการให้คุณค่าของสิ่งสมมติ

พุทธศาสนานั้นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว แบ่งเป็นขาวดำอย่างชัดเจน การหาคำตอบนั้นย่อมคำนึงถึงเงื่อนไขธรรมชาติของแต่ละบุคคลและในแต่ละสถานการณ์ ศาสนาพุทธไม่ได้ให้ฐานข้อบัญญัติที่สนับสนุนให้ผู้นับถือตัดสินว่าใครถูกหรือผิด พระโคตมพุทธเจ้าเองยังตรัสไว้ว่า พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ทางที่เหมาะสมให้กับผู้อื่นเท่านั้น พระองค์ไม่มีสิทธิบังคับให้ใครทำตามที่พระองค์ต้องการและตัดสินว่าใครดีหรือเลว  จากความเข้าใจของผมที่มีต่อพุทธศาสนา มนุษย์ทุกคนที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ล้วนมี “กรรม” และ “บุญ” ของตนเอง ผมจึงคิดว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะประเมินว่าใครมีบุญกรรมมากหรือน้อยกว่าใคร เพียงแต่บุญกรรมเรามีความแตกต่างกัน ไม่ใช่เฉพาะที่ปริมาณแต่อาจรวมไปถึงประเภทด้วย การสร้างมาตรฐานเพียงมาตรฐานเดียวในการตัดสินว่าผู้ที่เดินเส้นทางนี้เป็นบุคคลที่ดี ผู้ที่ไม่ได้เดินเส้นทางนี้เป็นคนที่ชั่ว ถือเป็นการสร้างมาตรฐานที่มองข้ามไปว่าโดยธรรมชาตินั้นแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน เส้นทางที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันออกไป จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า “ชายจริงหญิงแท้” ที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีบุญกว่าจะเกิดมามีความสุขกว่า “เพศที่สาม” เสมอ ความรักต่างเพศก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปมากกว่าหรือน้อยกว่าความรักร่วมเพศ การแต่งตัวตรงตามเพศก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากหรือน้อยกว่าคนที่แต่งตัวข้ามเพศ ผมเชื่อว่าความสุขและความสำเร็จย่อมอยู่ที่ตัวบุคคลนั้นๆ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาจะมีอัตลักษณ์ใด  

(บทความโดย - นรุตม์  ศุภวรรธนะกุล : www.midnightuniv.org)

Add comment

By submitting this form, you accept the Mollom privacy policy.

ความเห็น

รูปภาพของ nangaek
nangaek on

เริ่ดที่สุด กะเทยเมืองไทยเก่งมากๆ

Discover Gay Thailand on Pinktrails.com